คำปรารภ
สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการพิมพ์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องของประเทศไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือและการรวมตัวกันที่จะก่อตั้งองค์กรอิสระ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการผดุงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างมวลสมาชิก ซึ่งจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกและประเทศชาติโดยส่วนรวม และเพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดต่อร่วมมือและประสานความสัมพันธ์กับองค์กรของประเทศต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน ด้วยเหตุนี้จึงพร้อมใจให้สัตยาบันกันก่อตั้ง “สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์” ขึ้นโดยตราธรรมนูญและกฎข้อบังคับฉบับนี้
ข้อบังคับที่ 1
ชื่อและวัตถุประสงค์
1.1 สหพันธ์มีชื่อว่า “สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์” (สอกพ.) เขียนและเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Federation of Thai Printing Industries” (FTPI.)
1.2 สอกพ. ได้จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1.2.1 ผดุงไว้ซึ่งสิทธิประโยชน์ร่วมกันในการประกอบอาชีพของมวลสมาชิก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการดำเนินธุรกิจ
1.2.2 เพื่อเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการเข้าทำความตกลงกับรัฐบาลและองค์กรของประเทศในกรณีที่มีส่วนเกี่ยวพันและมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมการพิมพ์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
1.2.3 ประสานงานและปฏิบัติงานโดยพลันเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการพิมพ์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทางด้านภาษี บุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยีและอื่นๆ
1.2.4 ส่งเสริมการประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการพิมพ์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทั้งในทางปฏิบัติและในทางวิชาการ
1.2.5 ให้การช่วยเหลือมวลสมาชิกที่มีปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมการพิมพ์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
ข้อบังคับที่ 2
สมาชิกและสมาชิกภาพ
2.1 สมาชิกสหพันธ์ประกอบด้วย
2.1.1 กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (Printing and Packaging Industry Club-The Federation of Thai Industries)
2.1.2 สมาคมแยกสีแม่พิมพ์เพื่ออุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย (Thai Colour Seperated Association)
2.1.3 ชมรมสร้างสรรค์นวัตกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทย (Thai Creative Innovation Printing and Packaging Club)
2.1.4 สมาคมการพิมพ์ไทย (The Thai Printing Association)
2.1.5 สมาคมส่งเสริมวิชาการพิมพ์ (Thailand Association for Printing Technology Promotion)
2.1.6 สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (The Publishers and Booksellers Association of Thailand)
2.1.7 สมาคมการค้านวัตกรรมการพิมพ์ไทย (Thai Innovative Printing Trade Association)
2.1.8 สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย (The Thai Packaging Association)
2.1.9 สมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย (Thai Corrugated Packaging Association)
2.2 การรับสมาชิกใหม่ของสหพันธ์ฯ ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากคณะมนตรีของสหพันธ์ฯ
2.3 ให้นายกหรือประธานของสมาชิกตามข้อ 2.1 เป็นมนตรีสหพันธ์ฯ โดยตำแหน่ง2.4 ให้สมาชิกตามข้อ 2.1 แต่งตั้งกรรมการ 2 ท่าน เป็นผู้แทนมนตรีเข้าร่วมประชุมด้วย หากในกรณีที่มนตรีไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ ให้ผู้แทนมนตรีท่านใดท่านหนึ่งมีอำนาจเต็มในฐานะมนตรี
ข้อบังคับที่ 3
คณะมนตรี
3.1 องค์กรบริหารสหพันธ์ฯ เป็นคณะมนตรีซึ่งประกอบด้วย
3.1.1 ประธานคณะมนตรี เรียกว่าประธานสหพันธ์ (Chairman)
3.1.2 รองประธานคณะมนตรี 2 ท่าน เรียกว่ารองประธานสหพันธ์ (Vice Chairman)
3.1.3 เลขาธิการ (Secretary General)
3.1.4 เหรัญญิก (Treasurer)
3.1.5 มนตรีอื่นๆ (Committee Director) อีกตามจำนวนผู้แทนสมาชิกที่เหลือของสหพันธ์ฯ
3.1.6 ประธานมูลนิธิสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์
3.2 คณะมนตรีมีอำนาจที่จะทำการใดๆ แทนสหพันธ์ฯ ในนามของสหพันธ์ฯ ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้ในข้อบังคับ ข้อที่ 1 ของสหพันธ์ฯ ตลอดจนกำหนดนโยบายการบริหารงานของสหพันธ์ฯ โดยผ่านการรับหลักการจากคณะมนตรีเป็นเอกฉันท์
3.2.1 คณะมนตรีให้อยู่ในตำแหน่งตามข้อ 3.1 วาระละ 1 ปี (ตั้งแต่ 3 มิถุนายน-3 มิถุนายนปีถัดไป)
3.2.2 ประธานสหพันธ์ฯ เป็นตำแหน่งซึ่งได้ตกลงกันในบรรดาสมาชิกและรับรองเป็นเอกฉันท์โดยคณะมนตรี
3.2.3 ลำดับของการผลัดกันรับตำแหน่งประธานสหพันธ์ฯ แต่ละวาระได้ตกลงกันไว้โดยมติเป็นเอกฉันท์ นับแต่วันประชุมก่อตั้งสหพันธ์ฯ เรียงลำดับตามข้อ 2.1 สมาชิกรายใดจะสละสิทธิ์ในการรับตำแหน่งประธานสหพันธ์ฯ ก็ได้ ในกรณีสมาชิกใหม่ให้เรียงลำดับต่อท้ายตำแหน่งของประธานคณะมนตรีที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไป
3.2.4 ประธานสหพันธ์ฯ คนเก่าจะต้องส่งมอบงานทั้งหมดให้ประธานสหพันธ์ฯคนใหม่ภายใน 30 วัน
3.3 ประธานสหพันธ์ฯ ที่พ้นวาระไปแล้วทุกท่านจะเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ (Honorary Advisor) ของสหพันธ์ฯ ตลอดชีพ
ข้อบังคับที่ 4
หน้าที่ของคณะมนตรี
4.1 ประธานสหพันธ์ฯ เป็นผู้บริหารของสหพันธ์ฯ และเป็นประธานในการประชุมของสหพันธ์ฯ ทุกครั้งประธานสหพันธ์ฯ เป็นผู้ดำเนินการให้มีการปฏิบัติตามมติของคณะมนตรี และ/หรือดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตามความเหมาะสมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสหพันธ์ฯ
4.2 ในกิจการทั้งปวงซึ่งเกี่ยวกับบุคคลภายนอก องค์กร รัฐบาล นิติบุคคล หรือสมาคมอื่นๆ ให้ประธานสหพันธ์ฯ หรือผู้ที่คณะมนตรีมีมติแต่งตั้ง เป็นผู้แทนของสหพันธ์ฯ
4.3 ให้รองประธานสหพันธ์ฯ คนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่แทนประธานในกรณีที่ประธานไม่อยู่ เจ็บป่วย ตลอดจนขาดความสามารถหรือไม่สามารถโดยชั่วคราว อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่เหลือของประธานและจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ที่ระบุไว้ในข้อ 4.1 และหน้าที่อื่นๆ ซึ่งอาจกำหนดโดยคณะมนตรี
4.4 เลขาธิการเป็นผู้ประสานงานระหว่างมวลสมาชิก ต้องเป็นผู้รับผิดชอบเก็บรักษาบันทึกสิ่งพิมพ์และเอกสารอื่นๆ ของสหพันธ์ฯ ต้องรับผิดชอบจัดเตรียมวาระการประชุม เตรียมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับการประชุม แจ้งนัดหมายการประชุม และรับผิดชอบบันทึกรายงานการประชุม
4.5 ให้เหรัญญิกเป็นผู้รับผิดชอบการเงิน การบัญชี ทรัพย์สิน รายงานรายรับ-รายจ่ายและสถานะการเงินของสหพันธ์ฯ ต่อที่ประชุมทุกครั้ง
4.6 ประธานสหพันธ์ฯ จะแต่งตั้งผู้ใดเป็นที่ปรึกษาได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้นแก่สหพันธ์ฯ
4.7 ให้มนตรีมีหน้าที่เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง ให้มีความคิดเห็น เสนอกิจกรรม จัดทำข้อมูลประกอบการประชุมและรับผิดชอบกิจกรรมที่ได้รับมอบหมาย
4.8 มนตรีต้องเข้าร่วมประชุมสม่ำเสมอ หากมนตรีท่านใดขาดหรือลาประชุมเกิน 2 ครั้งติดต่อกันหรือมาประชุมน้อยกว่า 3 ครั้งในวาระนั้น จะไม่มีสิทธิ์รับตำแหน่งมนตรีบริหารในวาระถัดไป คือ ตำแหน่งประธานสหพันธ์ฯ, รองประธานท่านที่ 1, รองประธานท่านที่ 2, เลขาธิการ และเหรัญญิก
ข้อบังคับที่ 5
การประชุม
5.1 การประชุมประจำปีของสมาชิกจะต้องประชุมในเดือนมิถุนายน ในการประชุมประจำปีจะต้องพิจารณารับรองและให้รายงานสรุปกิจการดังต่อไปนี้
5.1.1 ผลงานของคณะมนตรีสำหรับรอบปีที่ผ่านมา
5.1.2 แต่งตั้งประธานสหพันธ์ฯ และมนตรีตำแหน่งอื่นๆ
5.1.3 เรื่องอื่นๆ ซึ่งจำเป็นและเกี่ยวข้องกับกิจการของสหพันธ์ฯ เช่น บัญชีรายรับ-รายจ่าย ทรัพย์สิน และการส่งมอบงาน เป็นต้น
5.2 จัดให้มีการประชุมคณะมนตรีทุกๆ 2 เดือนต่อครั้ง เป็นอย่างน้อย การประชุมสมัยพิเศษอาจจัดให้มีขึ้น โดยการเรียกประชุมของประธานสหพันธ์ฯ หรือเมื่อมนตรีร้องขอ
5.3 การนัดประชุมทุกครั้ง ให้เลขาธิการส่งหนังสือนัดประชุมล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วันทำการ ก่อนมีการประชุม ยกเว้นการประชุมสมัยพิเศษ ประธานสหพันธ์ฯ นัดให้มีการประชุมได้ทันทีหรือตามความเหมาะสม
5.4 องค์ประชุมต้องประกอบด้วยมนตรี หรือผู้แทน 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
5.5 การลงคะแนนเสียงในที่ประชุมทุกครั้ง ให้มนตรีที่เข้าประชุมหรือผู้แทนมีคะแนนเสียง 1 คะแนน มติที่ประชุมทุกครั้งจะมีผลบังคับและผูกพันสหพันธ์ฯ ต่อเมื่อมนตรีหรือผู้แทนตามข้อ 5.4 เข้าประชุม ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์และมติดังกล่าวได้บันทึกไว้ในรายงานการประชุม ยกเว้นข้อ 2.2, ข้อ 3.2.2 และข้อ 8 ต้องเป็นมติจากคณะมนตรีทุกท่านเป็นเอกฉันท์
ข้อบังคับที่ 6
การดำเนินงาน-การเงินของสหพันธ์ฯ
6.1 ให้บรรดาสมาชิกทั้งหมดร่วมเป็นผู้รับผิดชอบในบรรดาค่าใช้จ่ายทั้งปวงเพื่อดำเนินงานของสหพันธ์ฯ โดยให้สหพันธ์ฯ รับผิดชอบการจัดงานวันการพิมพ์ไทย จัดทำหนังสือวันการพิมพ์ไทย (สูจิบัตร) และดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสหพันธ์ฯ
6.2 ค่าใช้จ่ายอื่นที่นอกเหนือจากข้อ 6.1 เมื่อสหพันธ์ฯ ดำเนินการให้แก่สมาชิกรายใดเป็นการเฉพาะ สมาชิกรายนั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
6.3 ให้สหพันธ์ฯ เปิดบัญชีในนามสหพันธ์ฯ บัญชีออมทรัพย์และกระแสรายวันกับธนาคารพาณิชย์ตามมติของที่ประชุมสหพันธ์ฯ
6.4 ให้เหรัญญิกถือเงินสดอยู่ในมือได้ 5,000 บาท (ห้าพันบาท) ส่วนที่เกิน 5,000 บาท (ห้าพันบาท) ให้นำเข้าฝากในบัญชีของสหพันธ์ฯ
6.5 ให้ประธานสหพันธ์ฯ เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการจ่ายเงินที่ไม่เกิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาท)
6.6 การจ่ายเงินที่เกินกว่า 20,000 บาท (สองหมื่นบาท) ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสหพันธ์ฯ ก่อน
6.7 ผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่ายเช็คในนามของสหพันธ์ฯ คือประธานลงนามคู่กับเหรัญญิก หรือประธานลงนามคู่กับเลขาธิการ หรือเลขาธิการลงนามคู่กับเหรัญญิก ( 2 ใน 3 คน)
ข้อบังคับที่ 7
ภาระหน้าที่และสิทธิของสมาชิก
7.1 สมาชิกทุกรายต้องให้ความร่วมมือตามสมควรในการส่งสำเนาสถิติ หรือข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมของสมาชิกแก่สหพันธ์ฯ เมื่อสหพันธ์ฯ ร้องขอ
7.2 สมาชิกรายใด ใช้ชื่อของสหพันธ์ฯ เพื่อกระทำการใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสหพันธ์ฯ หรือมนตรีของสหพันธ์ฯ ทั้งหมด สมาชิกนั้นจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งปวงตามมติของคณะมนตรี ในการออกเสียงลงคะแนนในกรณีดังกล่าวข้างต้น สมาชิกผู้กระทำผิดไม่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน หรือไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในที่ประชุม
7.3 สมาชิกมีสิทธิที่จะขอสถิติหรือข้อมูลใดๆ ซึ่งสหพันธ์ฯ เป็นผู้จัดทำ โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่อาจจะมีขึ้นเอง
7.4 สมาชิกมีสิทธิร้องขอให้สหพันธ์ฯ ดำเนินการแก้ปัญหาอุปสรรคของสมาชิกที่เกี่ยวข้อง
ข้อบังคับที่ 8
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงธรรมนูญ
ธรรมนูญและกฎข้อบังคับของสหพันธ์ฯ แก้ไขเปลี่ยนแปลงในการประชุมคราวใดก็ได้ ที่มีมนตรีเข้าประชุมครบทุกคนและออกเสียงตรงกันทั้งหมดเป็นเอกฉันท์ ในกรณีที่มนตรีเข้าร่วมประชุมไม่ครบ สหพันธ์ฯ จะแจ้งผลการเปลี่ยนแปลงให้ทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงภายในกำหนด จะถือว่าเห็นด้วยกับมติของที่ประชุมคราวนั้น
ข้อบังคับที่ 9
ตราและเครื่องหมาย
เครื่องหมายของสหพันธ์ฯ เป็นดังนี้
เป็นการนำวงกลม 4 วงที่สื่อถึงลูกกลิ้งของระบบการพิมพ์มาเรียงกัน และมีสีนำเงิน ขาว แดง ของความเป็นไทยอยู่ภายในกรอบตารางสกรีนสี่เหลี่ยมจตุรัส ที่แสดงถึงความมั่นคงของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย
หมายเหตุ แก้ไขปรับปรุงครั้งที่หก ในการประชุมสหพันธ์ฯ ครั้งที่ 5/2563-4 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2564 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป โดยข้อบังคับที่ปรับปรุงมีดังนี้ แก้ไขเนื้อหาข้อ 2.1.3 ในข้อบังคับข้อที่ 2 (ชมรมการจัดพิมพ์อิเล็กทรอนิกไทย เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมสร้างสรรค์นวัตกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทย)
(นายพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช)
นายกสมาคมการพิมพ์ไทย
(นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ)
นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
(นางประภาพร มโนมัยวิบูลย์)
นายกสมาคมการค้านวัตกรรมการพิมพ์ไทย
(นายมานิตย์ กมลสุวรรณ)
นายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย
(นายชูศักดิ์ ดีตระกูลวัฒนผล)
นายกสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย
(นายพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช)
ประธานมูลนิธิสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์
(นายธาตรี ลิขิตวรศาสตร์)
นายกสมาคมแยกสีแม่พิมพ์เพื่ออุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย
(นายประสิทธิ์ คล่องงูเหลือม)
ประธานชมรมสร้างสรรค์นวัตกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทย