สถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ปี 2563-2564

ผลกระทบและภาพรวมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ในปี 2563

ในปี 2563 อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมากมายทั้งในเรื่อง Digital Disruption ปัญหาการไม่ลงรอยระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่เปลี่ยนประธานาธิบดีจากนายโดนัล ทรัมป์เป็นนายโจ ไบเดน แต่การเผชิญหน้าทางนโยบายต่างประเทศกับภาวะสงครามการค้าก็ยังมิได้ลดลงเลย และมีแนวโน้มทวีปัญหามากขึ้น ซึ่งแน่นอนย่อมมีผลกระทบต่อการค้าของประเทศไทยไม่มากก็น้อย

อีกทั้งภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการพิมพ์ และเศรษฐกิจการค้าไปทั่วโลกภาคธุรกิจการค้าต้องพบกับการประกาศภาวะฉุกเฉิน Lock Down ของประเทศเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในสุขภาพชีวิตสูงสุด ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม Social Distancing ทำให้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองไปสู่ฐานวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ หรือ New Normal เช่น การทำงานจากบ้าน Work From Home การประชุมผ่านระบบ Online สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งส่งผลในแง่ลบและแง่บวกขึ้นอยู่กับประเภทของผู้ประกอบการว่าเป็นสิ่งพิมพ์ประเภทไหน ซึ่งสิ่งพิมพ์บางประเภทกลับได้รับอานิสงค์มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เช่น ฉลาก บรรจุภัณฑ์อาหารและกล่องลูกฟูก เพื่อตอบสนองความต้องการตลาดใน
ประเทศที่มียอดการบริโภคสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์แบบ Delivery เพิ่มขึ้น อีกทั้งประเทศไทยเป็นแหล่งส่งออกอาหารสำเร็จรูปที่สำคัญ จึงมีประเทศที่สถานการณ์ Covid-19 ยังระบาดรุนแรง สั่งซื้ออาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูปเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ตลาดการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของประเทศไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามยังมีผู้ประกอบการที่ใช้ภาวะนี้เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยการปรับตัวไปสู่ platform การสื่อสารออนไลน์ โดยเราจะเห็นการโพสต์ขายสินค้าบริการสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ผ่าน Social Media เช่น Facebook Instagram มากขึ้น อีกทั้งมีการปรับรูปแบบ Website เพื่อนำเสนอการขายไปยังผู้ซื้อในรูปแบบใหม่ผ่านระบบ E-Commerce เพิ่มมากขึ้นการพัฒนารูปแบบโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า เช่น บรรจุภัณฑ์สำเร็จรูป Food Delivery Single Use ที่มียอดการเติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่องบรรจุภัณฑ์เวชภัณฑ์ก็มียอดเติบโตตามการใช้งานเช่นกัน เช่นกล่องใส่ Face Mask กล่องใส่ถุงมือยาง แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมของ อุตสาหกรรมทั้งระบบ มีผลประกอบการโดยรวมลดลงเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ จากภาวะผลกระทบการแพร่ระบาดของ Covid 19 ดังภาพประกอบ

ทิศทางและแนวโน้มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ในปี 2564

เข้าสู่ไตรมาสแรกของปี 2564 ผลกระทบการแพร่ระบาด Covid-19 ก็ยังคงอยู่ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการสั่งซื้อวัคซีนทั้งแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวคและเริ่มมีการฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง แต่ก็ยังต้องใช้เวลาในการดำเนินการขนส่งและบริหารจัดการฉีดให้กับประชาชนอยู่พอสมควร ทำให้มีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นตามคลัสเตอร์แหล่งต่างๆ เช่นคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร และคลัสเตอร์ทองหล่อ ทำให้แนวโน้มของอุตสาหกรรมต่างๆ ในปี 2564 ที่กำลังจะดีขึ้น ต้องสะดุดลงอีกครั้งส่งผลให้การจัดงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการพิมพ์ต้องยกเลิกงาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานประชุม การจัดงานสัมมนา หรือแม้กระทั่งการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ก็ต้องเลื่อนออกไปจนกว่าภาวการณ์แพร่ระบาดจะทุเลาลง

อีกทั้งภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อ Covid-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการพิมพ์ และเศรษฐกิจการค้าไปทั่วโลก ภาคธุรกิจการค้าต้องพบกับการประกาศภาวะฉุกเฉิน Lock Down ของประเทศเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในสุขภาพชีวิตสูงสุด ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม Social Distancing ทำให้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเองไปสู่ฐานวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ หรือ New Normal เช่น การทำงานจากบ้าน Work From Home การประชุมผ่านระบบ Online สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีทั้งส่งผลในแง่ลบและแง่บวกขึ้นอยู่กับประเภทของผู้ประกอบการว่าเป็นสิ่งพิมพ์ประเภทไหน ซึ่งสิ่งพิมพ์บางประเภทกลับได้รับอานิสงค์มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น เช่น ฉลาก บรรจุภัณฑ์อาหาร และกล่องลูกฟูก เพื่อตอบสนองความต้องการตลาดในประเทศที่มียอดการบริโภคสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์แบบ Delivery เพิ่มขึ้น อีกทั้งประเทศไทยเป็นแหล่งส่งออกอาหารสำเร็จรูปที่สำคัญ จึงมีประเทศที่สถานการณ์Covid-19 ยังระบาดรุนแรง สั่งซื้ออาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูปเข้ามาเป็นจำนวนมากทำให้ตลาดการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของประเทศไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย

โดยแนวโน้มประเภทของสิ่งพิมพ์ที่จะมีการเติบโตต่อไปในอนาคตจะเป็นสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องกระดาษลูกฟูก บรรจุภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป Flexible Packaging ฉลากสินค้า Label ต่างๆ ดังกราฟในตาราง สำหรับรูปแบบระบบการพิมพ์ในประเทศไทย ระบบ Sheetfed Offset และ Web Offset ยังได้รับความนิยมโดยยังครองส่วนแบ่งการใช้งานสูงสุด แต่ในขณะเดียวกันระบบการพิมพ์ดิจิตอลทั้ง Inkjet และ Electrophograhy Toner ก็มีอัตราการเติบโตอย่างสูงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตจากสถานการณ์ต่างๆ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของประเทศไทยยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผ่านสมาคมต่างๆในอุตสาหกรรม ซึ่งรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งเป็นสหพันธ์อุตสาหกรรรมการพิมพ์ ในการกำหนดยุทธศาสตร์และช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผ่านภาครัฐและเอกชน ให้อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ยังคงดำเนินอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยขอสรุปเป็นปัจจัยต่างๆ พอสังเขปดังนี้

ปัจจัยสนับสนุน

  • ความแข็งแกร่งและความร่วมมือของผู้ประกอบการด้านสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ทำให้ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของภูมิภาค (Regional Printing Hub) ด้วย คุณภาพและศักยภาพในการผลิต
  • ประเทศไทยมีนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์สินสาคร ซึ่งถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • ประเทศไทยมี Supply Chain ของอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทั้งระบบ
  • ผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์มีเทคโนโลยีการผลิตและแรงงานที่มีฝีมือทำให้ผลงานสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ของประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ดังจะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้รับรางวัลจาการประกวดผลงานด้านสิ่งพิมพ์ระดับเอเซียเป็นที่ 1 อย่างต่อเนื่องตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยเสี่ยง

  • ความเปลี่ยนแปลงในเรื่อง Digital Disruption ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งพิมพ์บางประเภท เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โดยผู้บริโภคหันไปใช้ Digital Media ทดแทน
  • สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตตามอัตราการบริโภคของประชาชน หาก GDP ของประเทศไทยติดลบจากภาวการณ์เศรษฐกิจของตลาดโลก สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ก็ได้ผลกระทบเชิงปริมาณที่ลดลงด้วยเช่นกัน
  • การเพิ่มขึ้นของค่าขนส่งระหว่างประเทศ จากปัญหาการขาดแคลนตู้ Container และการเดินเรือ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูงขึ้น
  • ภาวการณ์ขึ้นราคาของกระดาษบรรจุภัณฑ์ เนื่องมาจากปริมาณเยื่อกระดาษที่เกิดจากการ Recycle ลดลง เนื่องมาจากคนอ่านหนังสือพิมพ์และหนังสือมีจำนวนลดลง Demand และ Supply ของผู้ผลิตกระดาษขาดความสมดุล

ข้อเสนอแนะระยะสั้นสำหรับแผนฟื้นฟูหลัง Covid-19

  • ขอให้ภาครัฐจัดกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ตามความต้องการของ แต่ละกลุ่มธุรกิจจนกว่าเหตุการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ
  • ขอความช่วยเหลือมาตรการลดผลกระทบด้านเงินชดเชยแรงงาน กรณีปิดบางส่วนหรือปิดทั้งกิจการอันเนื่องมาจากผลกระทบโควิด -19
  • ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทางด้านสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ฯลฯ
  • ลดอัตราเงินสมทบและชะลอเวลาส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง
  • โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19
  • ส่งเสริมให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตภายในประเทศให้มากขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน กระตุ้นเศรษฐกิจด้วย Local Economy และสินค้า Made in Thailand

ข้อเสนอแผนฟื้นฟูต่อเนื่อง

  • ลดอัตราค่าส่งสินค้าหนังสือและสิ่งพิมพ์ผ่านระบบไปรษณีย์ไทย เป็นอัตราพิเศษ เพื่อลดต้นทุนค่าโลจิสติกส์และกระตุ้นการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น
  • จัดให้มีโครงการมาตรการช๊อบหนังสือช่วยชาติ โดยนำใบเสร็จไปหักลดหย่อนภาษีได้ และเป็นการกระตุ้นสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และรักการอ่าน
  • มาตรการช่วยเหลือทางด้านภาษีนำเข้าวัตถุดิบและอุปกรณ์ ตลอดจนเครื่องจักรต่างๆ เพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรที่ทันสมัยมากขึ้น เป็นการลดต้นทุนและเพิ่ม Productivity
  • ให้สิทธิประโยชน์กับผู้ส่งออกหรือมีมาตรการชดเชยอื่นๆ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและกระตุ้นการส่งออกเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะผ่อนคลายขึ้น
  • ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต
  • ส่งเสริมการปรับปรุงเครื่องจักร และทักษะแรงงาน เพื่อรองรับการผลิตสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์เชิงเทคนิค
  • สนับสนุนรูปแบบการจำหน่ายสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์แบบออนไลน์

บทความโดย
พงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช

ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ นายกสมาคมการพิมพ์ไทย
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ส.อ.ท.
ประธานมูลนิธิสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า