นวัตกรรมในปัจจุบัน จะกลายเป็น เทคโนโลยีพื้นฐานในอนาคต
be INNOVATIVE TODAY or be BASIC TOMORROW
Thai Innovative Printing Trade Association (TINPA)
“ นวัตกรรมในปัจจุบัน จะกลายเป็น เทคโนโลยีพื้นฐานในอนาคต ”
อุตสาหกรรมการพิมพ์เมื่อ 40 ปี ที่แล้ว หากมีลูกค้าต้องการให้พิมพ์งานที่มีบาร์โค้ดแตกต่างกันในทุกแผ่นที่พิมพ์ หรือลูกค้าต้องการพิมพ์เสื้อยืดสี่สี 1 ตัว โดยต้องส่งของภายในพรุ่งนี้ หรือลูกค้าขอให้พิมพ์กล่องตัวอย่างให้ดูก่อนทำแม่พิมพ์ สิ่งเหล่านี้คงเป็นอะไรที่แทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับโรงพิมพ์ในเวลานั้น
ในขณะที่ปัจจุบัน เราคงรู้สึกว่าสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น เป็นเทคโนโลยีทั่วไป ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่หากลองมองย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว สิ่งเหล่านี้ คือ “นวัตกรรม” แต่ในปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ กลายเป็น “เทคโนโลยีพื้นฐาน” ไปเสียแล้ว คนที่มองเห็นความเป็นไปได้ของนวัตกรรมในวันนั้น ก็กลายมาเป็นเจ้าตลาดของเทคโนโลยีพื้นฐานในวันนี้ เราจึงควรเริ่มเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมในวันนี้ เพื่อหาพื้นที่ให้ตัวเรายืนได้อย่างมั่นคงในอนาคต
“นวัตกรรม” เป็นสิ่งที่ทุกคนพยายามทำให้เกิดขึ้นในทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ในวงการพิมพ์ ดังนั้น สมาคมการค้านวัตกรรมการพิมพ์ไทย (TINPA) จึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยสร้างนวัตกรรมให้ออกมาเป็นรูปธรรม และสามารถขยายเป็นระดับอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด
“นวัตกรรมการพิมพ์” สามารถสร้างขึ้นมาได้ในหลายรูปแบบ และหลายมุมมอง โดยไม่มีขอบเขตมากำหนด แต่ทาง TINPA ได้แบ่งประเภทของนวัตกรรมการพิมพ์ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการเห็นภาพของนวัตกรรมการพิมพ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้ การพิมพ์ผสม (Hybrid Printing) การพิมพ์เพื่อคุณสมบัติในการใช้งาน (Functional Printing) และการพิมพ์พิเศษ (Special Printing)
การพิมพ์ผสม (Hybrid Printing) เป็นนวัตกรรมขั้นพื้นฐานที่สุดสำหรับการพิมพ์ ซึ่งการพิมพ์ผสม หมายถึง การพิมพ์ที่ใช้ระบบพิมพ์ร่วมกันมากกว่า 1 ระบบ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้งานพิมพ์ หรือเกิดรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ต่างไปจากเดิม การพิมพ์ผสมสามารถทำให้เกิดคุณค่าใหม่ขึ้นได้สองรูปแบบ คือ คุณค่าด้านความสวยงาม (Appearance Value) และคุณค่าด้านการใช้งาน (Functional Value) สำหรับคุณค่าด้านการใช้งาน จะเป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อถัดไป นั่นคือ การพิมพ์เพื่อคุณสมบัติการใช้งาน (Functional Printing) ซึ่งนวัตกรรมการพิมพ์เพื่อคุณสมบัติการใช้งานก็ต้องใช้การพิมพ์ผสมเช่นเดียวกัน แต่ในหัวข้อนี้ เราจะพูดถึงเฉพาะการพิมพ์ผสมที่ทำให้เกิดคุณค่าด้านความสวยงาม
หนึ่งในตัวอย่างของการพิมพ์ผสมที่เพิ่มคุณค่าด้านความสวยงามที่สามารถเรียกว่าเป็นนวัตกรรมได้อย่างชัดเจน คือ แคมเปญระดับโลกของแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นที่รู้จักกันดี นั่นคือ ABSOLUT VODKA
ABSOLUT VODKA ได้จัดทำผลิตภัณฑ์พิเศษขึ้น ชื่อว่า ABSOLUT VODKA – Unique Edition แนวคิดของผลิตภัณฑ์ชุดนี้คือ ขวดวอดก้าที่ไม่เหมือนกันเลย 4 ล้านขวด ซึ่งสิ่งที่ทำให้ทางแบรนด์ทำขวดวอดก้าชุดพิเศษนี้มาได้ คือการนำการพิมพ์ผสมมาใช้ในผลิตภัณฑ์ชุดนี้ ขั้นตอนการตกแต่งขวดชุดนี้ เริ่มจากการนำขวดไปเคลือบด้วยสีสเปรย์ ซึ่งมีมากถึง 19 สี ซึ่งการหมุนของแต่ละขวดจะเป็นการหมุนที่มีรูปแบบต่างกัน ทำให้ได้สีพื้นผิวของขวดที่แตกต่างกัน จากนั้น ขวดจะถูกลำเลียงไปยังส่วนของการสะบัดหมึกพิมพ์ใส่ขวด ซึ่งมีจำนวนสี 5 สี จากนั้นขวดจะถูกลำเลียงไปยังส่วนพิมพ์สกรีน ที่ใช้จำนวนสี 16 สี กับบล็อคพิมพ์สกรีนที่แตกต่างกันถึง 51 แบบ ในส่วนของฉลาก ใช้ฉลากสติกเกอร์ที่พิมพ์ด้วยระบบเฟล็กโซ ร่วมกับระบบพิมพ์เทอร์มอลทรานสเฟอร์ ที่จะรันเลขของขวดนั้น ๆ ที่เลขจะไม่ซ้ำกับขวดอื่นเลย จึงได้มาเป็นขวดวอดก้าที่มีเอกลักษณ์ แต่ละขวดมีขวดเดียวในโลก
แม้ว่าแคมเปญนี้ จะมีมาตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งผ่านมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ผลิตภัณฑ์ชุดนี้ ก็ยังเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมการพิมพ์ผสมได้อย่างดี
มาจนถึงปัจจุบัน
การพิมพ์เพื่อคุณสมบัติในการใช้งาน (Functional Printing) คือการพิมพ์ที่สร้างคุณสมบัติพิเศษเพื่อการใช้งานให้งานพิมพ์ มิใช่เพียงการพิมพ์เพื่อความสวยงานหรือเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้ ตัวอย่างที่ชัดเจนของนวัตกรรมการพิมพ์เพื่อคุณสมบัติในการใช้งาน อยู่ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ฉลากและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นตลาดที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมการพิมพ์
1.ฉลากบ่งชี้เวลาและอุณหภูมิ (Time-Temperature Indicator Labels) หรือ ตัวย่อคือ TTI ซึ่งเป็น ฉลากที่ทำให้ผู้บริโภค สามารถรู้ถึงอายุและสภาพของสินค้า ได้จากสีที่เปลี่ยนไปของตัวฉลาก
องค์ประกอบของฉลาก TTI มีหลายรูปแบบ เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ผู้ผลิตฉลาก TTI แต่ละราย คิดค้นและวิจัยฉลากประเภทนี้ภายใน และจดสิทธิบัตรเป็นของบริษัทตัวเอง องค์ประกอบของฉลากตัวนี้จึงแตกต่างกันไปทุกบริษัท แต่องค์ประกอบหลักที่มักจะร่วมกัน คือ
- วัสดุชั้นล่าง (substrate) ซึ่งอาจเป็นกระดาษ หรือวัสดุประเภทโพลิเมอร์
- หมึกไวต่ออุณหภูมิ (temperature sensitive ink) ซึ่งเป็นหมึกพิเศษที่ไวต่ออุณหภูมิ และสีสามารถเปลี่ยนไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและเวลา ซึ่งหมึกจะเริ่มนับเวลาตั้งแต่การโดนกระตุ้น (activate)
- แผ่นกรองแสงยูวี (UV Filter) เป็นเป็นฟิล์มที่ใช้กันไม่ให้หมึกไวต่ออุณหภูมิโดนแสงกระตุ้นใหม่ หลังจากได้รับการกระตุ้นมาจากโรงงานแล้ว
ฉลาก TTI แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ ประเภทเริ่มนับเวลาหลังแปะ และ ประเภทเริ่มนับเวลาหลังสินค้าถูกเปิด สำหรับประเภทเริ่มนับเวลาหลังแปะ มักใช้กับสินค้าประเภทอาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ เมื่อฉลากถูกดึกออกจากไลน์เนอร์ (กระดาษรองหลังสติกเกอร์) ตัวฉลากด้านหลังจะเริ่มสัมผัสกับแสงหรืออากาศ เป็นการเริ่มนับเวลาของตัวฉลาก ซึ่งสีของฉลากจะเปลี่ยนไปเมื่อเวลาผ่านไป และถ้าอุณหภูมิที่เก็บสินค้าตัวนี้ ต่างจากอุณภูมิที่ถูกตั้งเอาไว้ สีของฉลากก็จะเปลี่ยนไปเร็วขึ้น และสำหรับประเภทเริ่มนับเวลาหลังสินค้าถูกเปิด มันใช้กับสินค้าประเภทอาหารแปรรูป ที่มีฝาเปิดปิด ฉลากมักจะมีลักษณะยาว แปะตั้งแต่ด้านบนฝาพาดลงไปถึงตัวภาชนะ เมื่อผู้ใช้เปิดฝาสินค้าออก ฉลากจะฉีกขาด ซึ่งทำให้ฉลากเริ่มสัมผัสกับอากาศหรือแสง ซึ่งเป็นการเริ่มนับเวลาของตัวฉลาก สีของฉลากจะเปลี่ยนไป หรือไล่ไปตามแถบเวลาของฉลาก เพื่อให้ผู้บริโภครู้ว่า สินค้าที่เปิดฝาแล้วชิ้นนี้ เหลือเวลาอีกเท่าไหร่ถึงจะถึงวันหมดอายุ
ด้วยคุณสมบัติต่าง ๆ นี้ ปัจจุบันฉลาก TTI จึงถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรป แต่ยังไม่แพร่หลายในไทย ซึ่งอาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิต ที่คิดจะเริ่มเปิดตลาดนี้ในประเทศไทย
2. ฉลากสื่อสารสนามใกล้ (Near Field Communication Label) หรือ ฉลาก NFC เป็นฉลากที่เก็บข้อมูลดิจิตอลภายในฉลาก โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสื่อสารกับอุปกรณ์ที่ใช้ถอดรหัส ซึ่งคล้ายกับฉลาก RFID ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แต่ฉลาก RFID ต้องใช้เครื่องอ่าน RFID ในการรับค่าจากฉลาก ซึ่งเหมาะกับการใช้งานเฉพาะจุด ที่ผู้ใช้ต้องมีเครื่องอ่าน RFID โดยเฉพาะ เช่น การเช็คสต็อกของในร้านค้า การผ่านเข้าออกหมู่บ้าน หรือการจ่ายค่าทางด่วน เป็นต้น ในทางกลับกัน ฉลาก NFC สามารถอ่านค่าได้จากโทรศัพท์มือถือ ในปัจจุบันสมาร์ทโฟนเกือบทุกรุ่นรองรับเทคโนโลยี NFC แล้ว ดังนั้น ผู้บริโภคทั่วไป ก็สามารถใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเองอ่านค่าจากฉลาก NFC ได้ ฉลาก NFC จึงถูกนำมาใช้แปะลงบนผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางการตลาด เช่น การใส่ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้น ๆ ที่ไม่ซ้ำกับชิ้นอื่น ซึ่งสามารถเชื่อมเข้าสู่ platform อื่น ๆ ให้มีทั้งภาพ เสียง หรือภาพเคลื่อนไหวได้ อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการชิงโชคหลังการซื้อผลิตภัณฑ์ หรือใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบว่าสินค้าชิ้นนี้ เป็นของแท้ได้อีกด้วย นอกจากนั้นทางเจ้าของสินค้ายังสามารถเก็บข้อมูลของผู้ซื้อที่ซื้อสินค้านี้ไป ผ่านการเชื่อมต่อกับ NFC ได้อีกด้วย ซึ่งในปัจจุบัน ฉลาก NFC ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ในสินค้าหลายประเภท ฉลาก NFC จึงเป็นหนึ่งในนวัตกรรมด้านฉลากที่น่าจับตามองที่สุด และกำลังเข้ามาสู่ประเทศไทยเต็มรูปแบบในปีนี้แล้ว
การพิมพ์พิเศษ (Special Printing) เป็นประเภทของนวัตกรรมที่เปิดไว้แบบกว้าง ซึ่งอาจเป็นเทคโนโลยีใหม่ หรือวิธีการพิมพ์แบบใหมที่ยังไม่เคยมีมาก่อน ตัวอย่างของนวัตกรรมการพิมพ์พิเศษที่กำลังเป็นที่จับตามองในปัจจุบัน คือ การพิมพ์โดยตรงบนวัตถุ (Direct-to-shape Printing)
การพิมพ์โดยตรงบนวัตถุ หรือตัวย่อคือ DTS เป็นระบบพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ลงบนวัตถุที่ไม่ใช่วัตถุแบบระนาบเดียวได้โดยตรง สำหรับเทคโนโลยีปัจจุบัน เราอาจเคยเห็นการใช่ระบบพิมพ์อิงค์เจ็ทที่พิมพ์ลงบนวัตถุระนาบเดียว เช่น เคสโทรศัพท์มือถือ หรือ วัตถุผิวโค้งขนาดเล็ก เช่น ปากกา เป็นต้น แต่การพิมพ์ DTS นี้สามารถทำได้มากกว่านั้น ปัจจุบันระบบพิมพ์ DTS ยังคงใช้หัวพิมพ์อิงค์เจ็ทในการพิมพ์ แต่หัวพิมพ์ใน DTS สามารถเคลื่อนที่ได้ 3 มิติ คือเคลื่อนที่ไปได้ทั้งแนวกว้าง ยาว และลึก ในบางเครื่อง อาจมีหัวพิมพ์ที่ใช้ร่วมกันมากกว่า 1 หัว เพื่อให้พิมพ์ได้รอบทิศทางมากขึ้น อีกทั้งตัวจับวัตถุ ก็สามารถเคลื่อนที่ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น เราสามารถใช้ระบบพิมพ์นี้ พิมพ์วัตถุเช่น ขวดน้ำ หรือแจกัน ได้โดยรอบ ซึ่งความโค้งเว้าของวัตถุนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับการพิมพ์ระบบนี้ เนื่องจากสามารถออกแบบได้เฉพาะงานนั้น ๆ เลย
ปัจจุบันระบบ DTS มีการนำออกมาขายสู่ตลาดบ้างแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลาย ด้วยปัจจัยของรูปแบบของงานที่สามารถพิมพ์ได้ และปัจจัยด้านราคา ซึ่งผู้ผลิตระบบพิมพ์ DTS กำลังพัฒนาเครื่องพิมพ์ของตนให้ออกสู่ตลาดได้ในรูปแบบและราคาที่เหมาะสม ซึ่งมีผู้ผลิตรายใหญ่ที่กำลังพัฒนาระบบพิมพ์นี้อยู่ไม่ต่ำกว่า 10 ราย และคาดว่าน่าจะสามารถขายอย่างแพร่หลายสู่ตลาดทั่วไปได้ภายในปี 2030
นวัตกรรมที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวัตกรรมมากมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน นวัตกรรมบางอย่างอาจไม่ได้รับการพัฒนาต่อ จนหายไปในที่สุด แต่บางนวัตกรรมอาจถูกพัฒนาต่อจนใช้กันอย่างแพร่หลาย
ถ้าใครเรียนรู้และพัฒนานวัตกรรมนั้นก่อน ก็จะก้าวไปข้างหน้าเร็วกว่าคนอื่น และอาจจะเป็นเจ้าตลาดในอนาคต ขณะที่ผู้เล่นรายอื่นกำลังแข่งขันด้านราคาในตลาดทะเลสีแดง (Red Ocean) แต่เราได้ก้าวข้ามตลาดนั้น ไปยังตลาดทะเลสีน้ำเงิน (Blue Ocean) ที่เราไม่ต้องไปแข่งขันกับผู้เล่นรายอื่นแล้ว
ดังนั้น เราควรเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ก่อนที่จะตามหลังคนอื่น จนเทคโนโลยีนั้นเป็นเทคนิคทั่วไปที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ เพราะ
“ นวัตกรรมในปัจจุบัน จะกลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในอนาคต คนทั่วไปจะรอให้ “นวัตกรรม” กลายเป็น “เทคโนโลยีพื้นฐาน” ก่อน ถึงจะเริ่มเรียนรู้และนำมาใช้ในองค์กรของตัวเอง ซึ่งคุณเป็นผู้เลือกเอง ว่าจะทำวันนี้ หรือรอพรุ่งนี้ ”
บทความโดย
หฤษฎ์ หิรัญญาภินันท์
สมาคมการค้านวัตกรรมการพิมพ์ไทย