อนาคตของบรรจุภัณฑ์หลังโลกยุคโควิด-19

ย้อนไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ถึงก่อนช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 (ไวรัสโคโรนา 2019) ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านบรรจุภัณฑ์กันแบบมุ่งหน้าเข้าสู่สีเขียวกันแบบเห็นได้ชัด มีการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติก และกล่องพลาสติกที่มีความไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้วัสดุทดแทน และการปลุกจิตสำนึกด้านการรักษ์โลกกันแทบทุกพื้นที่ ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ หันหน้าไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาคิดค้นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้

ปลายปี พ.ศ. 2562 ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ในประเทศไทยรณรงค์งดการใช้บรรจุภัณฑ์ถุงพลาสติก

เทคโนโลยีใหม่ ๆ ผนวกกับการพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้และย่อยสลายได้ทางชีวภาพ แต่แล้วการมาของ COVID-19 และเกิดการแพร่ระบาดได้ส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ เพราะความกังวลเกี่ยวกับสุขอนามัย และความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำ ส่งผลทำให้ความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และการพิมพ์ที่จะก้าวไปสู่ห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน หรือวงกลมวัฏจักรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นการปิดวงแบบสมบูรณ์ ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากการมาของไวรัส COVID-19 ที่ไม่จบสิ้นหยุดลงชั่วคราว และเมื่อคนหันมาใส่ใจความปลอดภัยของตนเองให้อยู่ให้รอดได้ในวันนี้มากกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นพรุ่งนี้ ผนวกกับความกังวลด้านสุขอนามัยใหม่หรือความต้องการด้านความปลอดภัย จึงส่งผลให้มีการใช้หันกลับมาใช้บรรจุภัณฑ์แบบประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ทำการพิมพ์ด้วยระบบดิจิทัล เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ ด้านของผู้บริโภคด้านอีคอมเมิร์ซ ที่มาในความต้องการแบบปลอดภัย รวดเร็ว และราคาถูก

จากวัฏจักรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นการปิดวงแบบสมบูรณ์ ต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากการมาของไวรัส COVID-19 ที่มา : http://pkgpackaging.com/life-cycle-assessment/

 

ในตอนช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 บริษัทที่ผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์จึงต้องมีการต้องปรับเป้าหมายด้านความยั่งยืนเอามารวมกับความต้องการด้านสุขอนามัย เพราะเมื่อคนเห็นผลร้ายของเชื้อ COVID-19 “ที่ติดง่ายตายไว” ผู้บริโภคเริ่มกังวลว่าคน ๆ หนึ่งอาจได้รับเชื้อไวรัสโดยการสัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุที่มีไวรัสอยู่แล้วเผลอไปสัมผัสปาก จมูก หรือสัมผัสผ่านมาจากบุคคลอื่น อีกทั้งยังมีข่าวสารที่แพร่ออกมาบอกว่าไวรัสดูเหมือนจะสามารถอยู่บนกระดาษแข็งได้ประมาณ 24 ชั่วโมง และบนพลาสติกได้นานถึงสามวัน จากเหตุผลต่างๆ นานา ส่งผลให้ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รีบหยุดนโยบายด้านบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมชั่วคราว แต่ก็ไปสวนทางกับความต้องการผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด และน้ำยาฆ่าเชื้อแบบใช้แล้วทิ้งเพิ่มขึ้น ทางสหรัฐอเมริกาจึงได้ออกกฎห้ามใช้บรรจุภัณฑ์ถุงที่ใช้ซ้ำได้ชั่วคราว เมื่อมองมาที่ประเทศไทยได้มีนโยบายห้ามใช้ถุงพลาสติกในเดือนมกราคม 2563 แต่ในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้มีการประกาศพระราชกำหนดต่าง ๆ การออกคำสั่งห้ามเดินทาง ส่งผลให้คนอยู่บ้าน มีการใช้บริการคนไปซื้อของแทน ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ที่แข่งกันออกโปรโมชั่นมาแย่งลูกค้ากันมากมาย จึงทำให้การขายแบบอีคอมเมิร์ซโตกระฉูด ยกตัวอย่างอาหารบางประเภท ที่เมื่อก่อนการระบาดของ COVID-19 ต้องทานที่ร้านเท่านั้น หรือร้านที่ขายอาหารแบบบุฟเฟต์ ต้องมีการปรับรูปแบบการขายแบบใหม่ ซึ่งการขายรูปแบบใหม่จำเป็นที่จะต้องการบรรจุภัณฑ์ที่นอกเหนือจากแค่ถุงใส่ หิ้วกลับบ้าน มาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ต้องใส่ทุกอย่างได้ตั้งแต่เครื่องปรุงไปยันถึงอุปกรณ์ในการรับประทานที่ต้องทำการบรรจุแล้วต้องไปใส่ในพาหนะขนส่งและต้องไม่กินพื้นที่ในการขนส่งมากเกินไป และตัวบรรจุภัณฑ์ต้องส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกให้กับเจ้าของกิจการและบริษัทขนส่งด้วย จึงมีการใช้การพิมพ์และการออกแบบใหม่ๆ ให้น่าสนใจเข้ามาช่วยส่งเสริมการขาย เช่น การออกแบบให้บรรจุภัณฑ์ให้แปลกตา หรือออกแบบรูปทรงให้ใช้พื้นที่แบบคุ้มค่า และมีการพิมพ์ชื่อร้านผู้จำหน่ายและบรรจุในแพ็คเกจของบริษัทขนส่งที่มีข้อความสื่อถึงผู้ให้บริการรายนั้น ๆ จึงส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นถึง 15% จากสภาวะสถานการณ์ปกติ

เพราะการที่คนอยู่บ้านแล้วไม่สามารถเดินทางไปซื้อสินค้าได้ ก็ใช้ช่องทางออนไลน์ในการหาสินค้าที่ต้องการก็ผลักดันให้การขายในรูปแบบออนไลน์โตจนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการขนส่งผลิตกันแทบไม่ทัน ถึงขนาดต้องมีการนำเข้า หรือใช้กล่องที่ใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งถ้าในช่วงการระบาดของเชื้อ COVID-19 คงไม่มีใครอยากได้กล่องหรือถุงที่สภาพไม่ดีเพราะมักจะคิดว่าต้องมีเชื้อโรคติดมาด้วยแน่ ๆ ถึงขนาดต้องเอาไปตากแดดก่อนเปิด หรือเอาแอลกอฮอล์ฉีดก่อนเปิดก็มี

หลังจากการระบาดของ COVID-19 เริ่มลดลงในช่วงก่อนปลายปี พ.ศ. 2563 และกลับมาระบาดครั้งใหม่ในต้นปี พ.ศ. 2564 จนประเทศไทยเริ่มมีการนำเข้าวัคซีนป้องกัน แต่ก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะฉีดได้ครบทั้งประเทศภายในกี่ปี หรือเมื่อไหร่เราจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ยังดีที่เรารู้วิธีการรักษาอาการป่วยจนทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง เรามียารักษาโรคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราเรียนรู้ที่จะอยู่กันในรูปแบบวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ก็จะส่งผลให้เกิดการผ่อนคลายด้านต่าง ๆ แต่รูปแบบการใช้ชีวิตแบบชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ก็จะยังคงอยู่คู่กับเราไปเรื่อย ๆ ยากที่จะกลับไปสู่รูปแบบการใช้ชีวิตแบบเดิมเหมือนก่อนการระบาดของโรคดังกล่าว ทำให้การใช้ชีวิตต้องความระมัดระวังมากกว่าเดิม จึงส่งผลให้การใช้บรรจุภัณฑ์รูปแบบต้องปลอดภัยไว้ก่อนยังคงอยู่กับสังคมไทยและสังคมโลกต่อไป จึงเป็นแนวโน้มที่วงการการอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับรูปความต้องการของผู้บริโภค ทั้งในเรื่องบรรจุภัณฑ์ที่ต้องมีความปลอดภัยสูงในการใช้งาน มีสุขอนามัยเพื่อลดการแพร่หรือกระจายเชื้อผ่านตัวบรรจุภัณฑ์ มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ ระยะเวลาในการผลิตสั้น น้ำหนักเบาแต่ต้องแข็งแรง รองรับการออกแบบที่แปลกใหม่ ๆ รวมไปถึงการผนวกการพิมพ์รูปแบบ Functional Printing ที่มีการใส่เทคนิคและเทคโนโลยีด้านต่างๆ เข้าไปทำให้งานพิมพ์บนบรรจุภัณฑ์สร้างมูลค่าและความแตกต่าง ยกตัวอย่าง จากอุตสาหกรรมอาหาร ที่ความชอบของผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้อาหารสดที่บรรจุแยกขายแช่เย็น แทนการไปเดินตลาดเพื่อซื้อสินค้า ซึ่งไม่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ มีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในร้านอาหารแทนชุดบรรจุอาหารที่ล้างทำความสะอาดได้ เพื่อให้ผู้บริโภคต้องการความมั่นใจว่าอาหารที่ซื้อมาไม่ได้สัมผัสหรือสัมผัสกับเชื้อไวรัส มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เกิดพฤติกรรมการเปลี่ยนจากเมนูอาหารในห้องครัวไปเป็นครัวแบบ “พร้อมปรุง ไม่ต้องเตรียม” หรือ “อาหารที่อุ่นได้ใหม่” เกิดความต้องการกล่องพร้อมฉลากและกล่องแบบซื้อกลับบ้านเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการใช้บริการจัดส่งอาหารถึงบ้านและบรรจุภัณฑ์ที่รับรองว่าอาหารได้รับการปกป้องและปลอดภัยเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเมื่อบรรจุภัณฑ์ที่สร้างจากความต้องการดังกล่าวใช้งานไปสักระยะหนึ่ง ประกอบกับสุดท้ายเมื่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสลดลงและมีการป้องการการติดโรคได้มากขึ้น เราก็จะเริ่มหันกลับมามองภาพของกองขยะที่เกิดจากใช้ภาชนะบรรจุและบรรจุภัณฑ์ประเภทใช้ครั้งเดียวมากยิ่งขึ้นผ่าน สื่อต่างๆ ก็จะกลับไปกระตุ้นอารมณ์ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและอนาคตให้กลับมาอีกครั้ง ส่งผลให้ต้องกลับมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกแน่นอน

ส่วนทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์ จากเดิมที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าต้องไปสั่งตัวบรรจุภัณฑ์จากผู้ผลิตอื่น ก็เริ่มหันมามองการผลิตบรรจุภัณฑ์ด้วยตนเอง เพราะในช่วงการระบาด COVID-19 และเกิดการปิดกั้นพื้นที่ การผลิตและการขนส่งหยุดชะงัก แต่สินค้าที่ผลิตออกมาจำเป็นต้องหาบรรจุภัณฑ์มาบรรจุ เกิดปัญหาการผลิตขาดช่วง ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ กำลังพิจารณาที่จะซื้อเครื่องพิมพ์ดิจิทัลสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์ของตนเอง เพราะสามารถผลิตและพิมพ์ได้เองโดยไม่ต้องอาศัยทักษะของผู้ปฏิบัติงานมากนัก รวมไปถึงการสร้างงานการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของตนเองให้ง่ายต่อการผลิต เนื่องจากจะทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการควบคุมห่วงโซ่อุปทานของตนเองทั้งในด้านการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับสินค้าคงคลังส่วนเกินและการจัดหาบรรจุภัณฑ์ทดแทนเมื่อไม่สามารถบรรจุภัณฑ์แบบเดิมไม่ได้ และก็ไปสอดคล้องกับทางด้านอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ที่พบว่าผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะเลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่กับเครื่องจักรมูลค่าสูงออกไปเนื่องจากความไม่แน่นอนของตลาด แต่จะหันไปจะลงทุนในระบบที่มีต้นทุนต่ำกว่า เช่น เครื่องพิมพ์ดิจิทัล แบบระบบอิเล็กโตโฟโตกราฟี หรือระบบอิงค์เจ็ท ที่เข้ามาช่วยในการงานที่ที่มีคุณภาพสูง มีสีงานพิมพ์ที่สวยงาม มีความคมชัดที่สะดุดตา และความเร็วในการพิมพ์ที่สูงเข้ามาช่วยในการผลิตงานพิมพ์บรรจุภัณฑ์มากขึ้น และยิ่งทุกวันนี้เทคโนโลยีหมึกพิมพ์สำหรับการพิมพ์ระบบดิจิตอลก็มีการหันมาใช้ประเภทตัวทำละลายฐานน้ำที่ปราศจากสารเคมีที่เป็นพิษ หรือหมึกพิมพ์ที่ไม่ทำปฏิกิริยากับสิ่งที่บรรจุก็จะยิ่งช่วยให้มีการใช้ระบบดิจิตอลเข้ามาผลิตบรรจุภัณฑ์มากยิ่งขึ้น

โดยเมื่อมองถึงโอกาสในช่วงแรก 1-3 ปี สำหรับบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์หลังโลกยุค COVID-19 จากการสำรวจโรงพิมพ์บรรจุภัณฑ์และผู้ใช้งานพบว่าตลาดบางกลุ่มสินค้าก็ส่งสัญญาณการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มบรรจุภัณฑ์ยาที่มีการใช้มากขึ้นเพราะการจ่ายยาโดยหมอจะจ่ายยาให้ระยะเวลานานขึ้นกว่าจะพบกันอีกครั้ง หรือกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหาร ที่มีความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ยืดหยุ่น (flexible packaging) เพิ่มขึ้น เพราะบรรจุภัณฑ์รูปแบบนี้จัดว่าถูกสุขอนามัยมากเพราะบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ หรือกลุ่มสินค้าที่สั่งผ่านออนไลน์ อันมีผลมากจากผู้บริโภคถูกบังคับให้แยกตัวอยู่ที่บ้าน ส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ว่าทุกอย่างจะเริ่มฟื้นตัวแล้วกลับมาทำงาน มาใช้ชีวิตตามปกติ แต่นิสัยการสั่งสินค้าออนไลน์ก็ไม่ได้หายไป เพราะค้นพบว่ามีความสะดวกสบายมากกว่าที่จะไปหาซื้อสินค้าด้วยตนเองจากสถานที่ผลิตและจำหน่าย ก็ส่งผลให้ความต้องการสินค้าผ่านเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไป ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกและกล่องพับได้เพื่อจัดส่งผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีความต้องการเพิ่มมากขี้น หรือ อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากก็เป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทฉลาก เพราะฉลากจัดเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน เพราะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับตัวสินค้านั้น ๆ เป็นผลให้ตลาดมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะมีการนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สุขอนามัยและฉลากยา รวมถึงการนำฉลากที่สามารถพิมพ์ข้อมูลได้ไปติดบนตัวสินค้าเพื่อการขายในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ

และเมื่อคาดการณ์ไปหลังจากนั้นภายใน 5 ปี บรรจุภัณฑ์ที่จะถูกนำมาใช้ทั้งหมดจะต้องผนวกกับความยั่งยืนเข้าไปเพิ่ม โดยบรรจุภัณฑ์ที่จะผลิตและใช้งานจะถูกกำหนดและนิยามใหม่โดยคำนึงถึงเรื่องสุขอนามัยบวกการความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะทุกผลิตภัณฑ์ต้องมุ่งมั่นที่จะบรรลุความสามารถในการรีไซเคิลหรืออัพไซเคิลได้ด้วย อีกทั้งตอนนี้ได้เกิดกระแสใหม่เกี่ยวกับการใช้งานวัสดุบรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติก เพราะมีความวิตกกังวลเรื่องการใช้วัสดุพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (biodegradable plastic) ที่มีการนำมาใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ เพราะในกระบวนการย่อยสลายจะมีการสร้างก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อน และกระบวนการย่อยสลายยังต้องมีสภาวะที่เหมาะสมกับการย่อยพลาสติกดังกล่าวจึงจะเกิดการเปลี่ยนรูปและย่อยสลายได้ และยังมีการพบอีกว่าเมื่อพลาสติกดังกล่าวมีการแตกสลายตัวแล้วมีการปล่อยไมโครพลาสติกรั่วไหลลงไปในทะเลอีกด้วย ดังนั้นในอนาคตการนำวัสดุพลาสติกประเภทที่ย่อยสลายได้จึงควรเป็นพลาสติกประเภทสลายตัวได้ทางชีวภาพ (compostable bioplastics) ที่เมื่อสิ้นสุดการใช้งานแล้วจะสามารถย่อยสลายเป็นสารชีวมวล น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ และไม่ทิ้งสิ่งที่เป็นพิษต่อโลกจึงจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ ส่วนถ้าเป็นวัสดุประเภทอื่นเช่น กระดาษ โลหะ แก้ว ก็ต้องมีการเลือกใช้วัสดุให้มีความยั่งยืน โดยภาพรวมของบรรจุภัณฑ์หลังจุด COVID-19 ต้องมีกำหนดรูปแบบอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย ผนวกกับความสามารถในการบรรจุและปกป้องผลิตภัณฑ์ เช่น ช่วยถนอมอาหาร ยืดอายุการเก็บรักษา ลดขยะให้เหลือน้อยที่สุด ต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวก ช่วยลดเวลาในการใช้งาน แบ่งส่วนแยกใช้งานได้ พกพาได้ง่ายและมีขนาดเล็กลง สามารถปิดผนึกและเปิดใช้งานได้ง่าย การกำจัดเมื่อเลิกใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบในอนาคต ซึ่งก็จะเข้าไปสู่กระบวนการเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงบวกกับการออกแบบใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องมีความปลอดภัยด้านสุขอนามัยอีกด้วย

บทความโดย
ผศ.ดร.นิทัศน์ ทิพยโสตนัยนา

ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า