การออกแบบบรรจุภัณฑ์วิถีใหม่:
New Normal for Packaging Design
เป็นเวลาหนึ่งปีแล้วที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) ได้อุบัติขึ้นและระบาดไปทั่วโลกเป็นระลอก ๆ อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมไปทั่วทุกทวีปของโลก การระบาดครั้งนี้ไม่ใช่แค่วิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขของโลกเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรมครั้งรุนแรงเป็นประวัติการณ์อีกด้วย หลายประเทศดำเนินความพยายามควบคุมโรคด้วยมาตรการล็อกดาวน์หรือปิดประเทศ ปิดเมือง ห้ามไม่ให้ผู้คนเดินทางเข้า-ออกประเทศ ให้คนทำงานที่บ้าน (Work from home) ปิดสถาบันการศึกษาและให้เรียนออนไลน์จากที่บ้าน
อันส่งผลให้ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในแง่มุมต่างๆอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ที่เรียกว่า “ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)” ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน ต้องเว้นระยะห่างสำหรับบุคคล ล้างมือบ่อยๆ เช็ดมือด้วยแอลกอฮอร์ สั่งอาหารมาทานที่บ้าน ซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อต้องปฏิบัติกันเป็นปกติต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่งจนเกิดเป็นความเคยชิน ในที่สุดทั้งหมดนี้ก็ได้กลายเป็น New Normal พฤติกรรมในการดำรงชีวิตแบบใหม่ในสังคมโดยอัตโนมัติ ในส่วนของบรรจุภัณฑ์จะเกิดอะไรขึ้นหลังยุค Covid-19? เป็นที่แน่นอนว่าบรรจุภัณฑ์นั้นก็ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 มาไม่น้อย โดยขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตใหม่และพฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยนไปของผู้บริโภค ซึ่งทำให้เห็นแนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในอนาคตที่จะมารองรับความต้องการของผู้บริโภควิถีใหม่อย่างชัดเจน 3 แนวทางด้วยกัน ดังนี้

Sustainable packaging design
ก่อนการระบาดของ Covid-19 พบว่าทั่วโลกให้ความสำคัญของการออกแบบบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนเป็นอันดับต้นๆ โดยคำนึงถึงผล กระทบของบรรจุภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียว (Single use packaging) แต่ปัจจุบันการใช้ชีวิตในยุค Covid-19 แบบ New normal ของผู้คนกลับหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว เนื่องจากการสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน ซึ่งต้องมีบรรจุภัณฑ์หลากหลายลักษณะและรูปแบบ ประกอบกับความต้องการป้องกันตนเองในด้านสุขอนามัยและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่กระจายไวรัส ความระแวงที่ไม่ต้องการใช้ร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น บรรจุภัณฑ์เหล่านี้จึงกลายมาเป็นปัญหาขยะล้นโลกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไม่จบสิ้น ดังนั้นแนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์ยุค New normal จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้นอีก ได้แก่
- เน้นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น
- เลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้
- กำจัดส่วนเกินจำเป็นของบรรจุภัณฑ์
- การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจทำให้เกิดบรรจุภัณฑ์รูปแบบใหม่ หรือปรับบรรจุภัณฑ์เดิมให้ลดการสูญเสียน้อยลง
ภาพที่ 1) innisfree ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากเกาหลี เปลี่ยนโฉมบรรจุภัณฑ์ Intensive Hydrating Serum จากขวดพลาสติกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ eco-friendly โดยบรรจุภัณฑ์ชั้นนอกทำจากกระดาษ ส่วนบรรจุภัณฑ์ชั้นในเป็นพลาสติกรักษ์โลกที่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งลดการใช้พลาสติกไปได้ถึง 51.8% เมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์เดิม เมื่อใช้เซรั่มหมดแล้วก็สามารถแยกชิ้นส่วนกระดาษและพลาสติกออกจากกันได้โดยง่าย เพื่อส่งไปรีไซเคิลต่อไป

(ภาพที่ 2) ในบรรดาอาหาร Delivery นั้น พิซซ่าจัดเป็นเมนูยอดนิยมที่ผู้คนชอบสั่งมารับประทานกัน และพิซซ่าแบรนด์ดังอย่างPizza Hutก็ลุกขึ้นมาแปลงโฉมบรรจุภัณฑ์ใหม่จากกล่องสี่เหลี่ยมแบบเดิมๆมาเป็นกล่องรูปทรงกลม ทำจากเยื่อกระดาษ plant-based meat ที่เรียกว่า “Incogmeato” ที่สามารถย่อยสลายได้ ข้อดีของกล่องรูปทรงกลมนี้ คือใช้กระดาษน้อยลงกว่ากล่องสี่เหลี่ยมแบบเดิม สามารถบรรจุพิซซ่าได้พอดี ไม่กลิ้งไปมา และเวลาจับซ้อนกันหลายๆกล่องก็จะซ้อนกันได้พอดีระหว่างการขนส่ง นอกจากนี้ยังช่วยให้พิซซ่ามีรสชาติที่อร่อยขึ้นกรอบขึ้น และยังร้อนๆเหมือนทานที่ร้านอีกด้วย
Hygiene-centric design
ในช่วง Covid-19 ผู้คนให้ความสนใจและตระหนักในสุขอนามัยเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าในอนาคตแม้ Covid จะหายไปจากโลกนี้ คนก็ยังเห็นความสำคัญในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า 2 ใน 3 ของผู้บริโภคเป็นกังวลว่าจะติดเชื้อไวรัสจากบรรจุภัณฑ์อาหาร และมากกว่า 40% ของผู้บริโภคจะใช้น้ำยาทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ซื้อมาก่อนนำมาบริโภค ตลอดจนหลีกเลี่ยงที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ร่วมกับผู้อื่น จึงเป็นสาเหตุสำคัญให้บรรจุภัณฑ์อาหารแบบ Take away และ Delivery มีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียว (Single use packaging) เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ดังนั้นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในยุคนี้จึงต้องคำนึงถึง
- ต้องแน่ใจว่าวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้สามารถปกป้องบรรจุภัณฑ์ให้ปลอดภัยจากไวรัสได้ (จากการศึกษาพบว่าไวรัสโคโรนานี้สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวบรรจุภัณฑ์ได้ 24 ถึง 72 ชั่วโมงแล้วแต่วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้)
- เน้นความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น เช่น การทำ temper-proof เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค โดยหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เกินจำเป็น
- พัฒนาปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ Delivery ให้เหมาะสมและสะดวกต่อการใช้งาน
- ให้ข้อมูลความปลอดภัยของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ หรือข้อความสำคัญที่ต้องการให้ผู้บริโภครับทราบและเชื่อใจ
(ภาพที่ 5) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตรา Wai Wai ของอินเดียนำเสนอข้อมูลของ WHO เรื่องการล้างมือเพื่อช่วยป้องกันไวรัสโคโรนา Covid-19 ไว้บนด้านหลังของซองบะหมี่ เพื่อกระตุ้นเตือนเด็กๆที่นิยมบริโภคบะหมี่ทั้งในอินเดียและประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกให้ล้างมือเป็นกิจวัตร
E-Commerce Shipment
ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาใช้วิธีซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง ตลอดจนของใช้ในบ้านหรือส่วนตัว หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านไปซุบเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านค้า หรือทำกิจกรรมอื่นๆนอกบ้านกันมากขึ้น ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้นจนเกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า Nesting ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้คาดว่าน่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องอีกนาน เพราะผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น แค่สั่งซื้อสินค้าทางคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือก็จะมีสินค้ามาส่งถึงบ้านแล้วใน ราคาประหยัดกว่า
ในส่วนของบรรจุภัณฑ์สินค้าออนไลน์นั้นควรคำนึงถึง
- การใช้วัสดุและออกแบบโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสินค้าแต่ละชนิด
- ต้องแข็งแรงและปกป้องสินค้าจากความเสียหายต่างๆได้ดี เลือกใช้วัสดุกันกระแทกที่เหมาะสม
- เน้นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำๆได้หลายครั้ง หรือรีไซเคิลได้
- บรรจุภัณฑ์ที่สามารถใช้ส่งสินค้าคืนได้สะดวก ในกรณีที่ลูกค้าต้องการคืนสินค้า
ดังนั้นบรรจุภัณฑ์ในอนาคตจะกลายเป็นจุดสนใจที่ผู้บริโภคจะพิจารณาเป็นอันดับแรก จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนเพื่อให้รองรับความต้องการของผู้บริโภคยุควิถีใหม่ โดยเริ่มต้นจากแนวทางการออกแบบที่เน้นเรื่อง e-commerce, sustainability, และ hygiene รวมถึงความสะดวกในการใช้งานหรือบริโภคเป็นสำคัญ
References:
https://www.allure.com/story/innisfree-intensive-hydrating-serum-paper-edition-review
https://www.yankodesign.com/2019/10/22/pizza-huts-new-eco-friendly-round-boxes
https://www.toppan.com/en/news/2021/02/newsrelease210218e.html
https://www.sanpellegrinofruitbeverages.com/intl/beverages/fruit/aranciata
https://waiwai.in https://www.facebook.com/hongbaorestaurant/ https://www.repack.com

บทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ โสมภาณี ศรีสุวรรณ
ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย