การปรับตัวของสำนักพิมพ์ในยุคโควิด-19

 

การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจหนังสือมีช่วงถดถอยมาโดยตลอด ติดอันดับธุรกิจดาวร่วงหลายปีซ้อน อันเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปเสพสื่อออนไลน์ แย่งเวลาจากการอ่านหนังสือไป ทำให้จากภาพรวมตลาดที่เคยมีมูลค่าเกือบ 30,000 ล้านบาทในปีพ.ศ.2557 ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี จนล่าสุดเหลือเพียง 12,500 ล้านบาทในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปีพ.ศ.2563 จัดว่าประเทศไทยมีแนวโน้มการซื้อหนังสือลดลง ตรงกันข้ามกับพฤติกรรมการอ่านจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน ไทเป สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และทวีปยุโรป ที่ต่างก็มีแนวโน้มการอ่านที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่ต้องทำงานอยู่ที่บ้าน จึงมีเวลาให้กับการอ่านเพื่อผ่อนคลายและพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือทำอาหารที่สร้างปรากฏการณ์ขายดีในทวีปยุโรป ก็เป็นผลจากการต้องติดอยู่ภายในบ้านนั่นเอง

สิ่งที่โรคระบาดร้ายทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอีกก็คือพฤติกรรมการซื้อและการอ่านหนังสือของนักอ่าน จากการที่ร้านค้าต่างๆ รวมไปถึงร้านหนังสือถูกสั่งปิดในช่วงล็อกดาวน์นั้น ทำให้นักอ่านต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของตนเองและหันมาซื้อโดยตรงกับสำนักพิมพ์ ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ โดยเฉพาะในมาร์เก็ตเพลสต่างๆ อย่าง Shopee และ Lazada สินค้าประเภทหนังสือมีการเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก เมื่อคลายล็อกดาวน์แล้ว นักอ่านกลับเคยชินกับการซื้อโดยตรงที่มีส่วนลดมากกว่าการซื้อผ่านร้านหนังสือแล้ว ส่งผลให้สัดส่วนการขายผ่านร้านหนังสือของสำนักพิมพ์น้อยลง อีกทั้งสำนักพิมพ์หันมาจำหน่ายเองมากขึ้น จึงเป็นการบ้านสำคัญที่ร้านหนังสือจะต้องปรับตัวเพื่อดึงนักอ่านกลับมาสู่ร้านของตนมากขึ้น ดังเช่นกรณีศึกษาร้านหนังสืออิสระในต่างประเทศจำเป็นต้องเพิ่มกิจกรรมที่สร้างชุมชนนักอ่านขึ้นภายในร้านหนังสือของตัวเอง

 

 

พฤติกรรมการซื้ออีกอย่างหนึ่งที่ถูกสถานการณ์โควิด-19 ปรับเปลี่ยนไปคือ การที่นักอ่านเคยชินกับระบบการพรีออเดอร์ (สั่งซื้อล่วงหน้า) ของสำนักพิมพ์และนักเขียนมากขึ้น โดยกระบวนการจำหน่ายหนังสือในรูปแบบการพรีออเดอร์ คือ เมื่อประกาศลิขสิทธิ์หรือประกาศว่าจะมีการพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่ง จะเปิดให้นักอ่านจองและชำระเงินเข้ามาก่อน จากนั้นเมื่อพิมพ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจะจัดส่งไปให้นักอ่านถึงบ้าน รูปแบบการขายแบบนี้หากเป็นช่วงก่อนโควิด-19 ล่ะก็ เป็นไปได้ยากที่หนังสือเล่มนั้นจะขายได้ในจำนวนมาก แต่ในปัจจุบัน สำนักพิมพ์หลายแห่งหันได้มาจำหน่ายในรูปแบบนี้ บางเล่มสั่งจองกันหลักพันเล่ม ซึ่งรูปแบบการพรีออเดอร์นี้เอง ได้สร้างโอกาสให้เกิดสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่มีเงินลงทุนไม่มากเพิ่มขึ้น และช่วยให้นักเขียนสามารถออกมาพิมพ์หนังสือเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้ร่มของสำนักพิมพ์ ซึ่งในประเด็นนี้เอง สำนักพิมพ์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาปรับปรุงตัวเองให้มีคุณค่าต่อนักเขียนมากกว่าการเข้ามาเป็นผู้ลงทุนเพื่อพิมพ์หนังสืออย่างเดียวอีกต่อไป เพราะถึงแม้ว่าโอกาสเกิดสำนักพิมพ์ใหม่ที่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจได้ง่ายขึ้น แต่จำนวนสำนักพิมพ์ที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยกลับมีจำนวนน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภาวะโรคระบาดขึ้น จากเดิมที่มีสมาชิกมากกว่า 500 ราย เหลือเพียง 385 รายในปีพ.ศ.2565

จำนวนการผลิตหนังสือใหม่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างผลกระทบทางลบต่อร้านหนังสือ เพราะการอยู่ได้ของร้านขึ้นอยู่กับหนังสือใหม่ที่เข้าสู่ร้านด้วย โดยข้อมูลจากสำนักหอสมุดแห่งชาติพบว่า การผลิตหนังสือใหม่ในปีพ.ศ.2561 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 มีจำนวน 20,542 เล่ม และลดลงเหลือ 18,291 เล่มในปีพ.ศ.2564 ซึ่งเปรียบเทียบกับจำนวนผลิตก่อนสถานการณ์โควิด-19 แล้วถือว่าลดลงถึง 11% ตัวเลขที่น่าสนใจคือ นิยายแปลมีการเพิ่มจำนวนการผลิตมากขึ้นในขณะที่นิยายไทยมีจำนวนการผลิตที่ลดลง และหนังสือการ์ตูนมีจำนวนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นผลต่อเนื่องจากปรากฎการณ์การ์ตูนดังเรื่อง “ดาบพิฆาตอสูร” ที่ทำให้ตลาดการ์ตูนกลับมาคึกคัก

 

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หมวดหนังสือที่นักอ่านคนไทยเลือกอ่านในช่วงโควิด-19 ดังนี้

อันดับ 1 ยังคงเป็นนิยาย โดยประเภทนิยายที่เป็นที่นิยมคือ นิยายรักและนิยายวาย

อันดับ 2 คู่มือเรียน/คู่มือสอบ

อันดับ 3 พัฒนาตนเอง/ How to

อันดับ 4 บริหารธุรกิจ

อันดับ 5 การ์ตูน

 

ตัวอย่างหนังสือที่มียอดขายสูงที่สุดในปีพ.ศ.2564

 

นอกจากพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไปแล้ว นักอ่านยังหันมาอ่านอีบุ๊กมากขึ้น อ่านหนังสือเล่มลดลงเล็กน้อย สาเหตุน่าจะมาจากความสะดวกในการซื้อหนังสือในช่วงที่ร้านหนังสือปิด และยังมีเหตุผลเรื่องการเรียนออนไลน์ที่สนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมการอ่านหนังสือผ่านออนไลน์ และนักอ่านมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวมากขึ้น ทั้งนี้หนังสือเสียง/พอดแคสต์ และการอ่านนิยายหรือการ์ตูนแบบรายตอนผ่านช่องทางออนไลน์ก็เติบโตขึ้นจนเป็นที่น่าจับตามอง สำนักพิมพ์จึงควรเตรียมพร้อมทั้งคอนเทนต์และแพลทฟอร์มในการสร้างหน่วยธุรกิจย่อยใหม่

 

 

กล่าวโดยสรุปคือ จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั้งห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจสำนักพิมพ์ อันได้แก่ นักเขียน/นักวาด สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ และร้านหนังสือ ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของนักอ่านที่มีความเปลี่ยนแปลงไปทั้งการซื้อ การอ่าน ไปจนถึงวิธีการอ่าน  นับว่าเป็นอีกบททดสอบที่ธุรกิจสำนักพิมพ์ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและตอบสนองทุกการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้

บทความโดย

ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์

นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า