ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์คืออะไร

 

ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ค่อยๆ สงบลง โลกก็กำลังจะกลับมาฟื้นตัว และโครงสร้างพื้นฐานของระบบ เศรษฐกิจ และสังคมของเราได้มีการปรับตัวให้เข้ากับ “ความปกติใหม่” (new normal) ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจ การพิมพ์ ต้องแน่ใจว่าจะได้รับการปฏิบัติและดูแลอย่างเป็นธรรมเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของระบบ และ รองรับต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคภายใต้ความปกติใหม่ ข้อจํากัดใด ๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สิ่งพิมพ์ เช่น การโฆษณา หรือบรรจุภัณฑ์จำเป็นต้องยึดถือปฏิบัติตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่การรับรู้ ต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณา สินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมโดยการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็น เช่นนั้น การกระทำในลักษณะนี้เรียกกันว่า การฟอกเขียว (Greenwashing) ได้ศัพท์ใหม่อีกตัว จากการฟอกขาว เป็น ฟอกเขียว นอกจากต้องดำเนินธุรกิจตามข้อจํากัดเหล่านี้แล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจการก็ต้องพยายามรักษาระดับใน สนามการแข่งขันอย่างสม่ำเสมอ

ธุรกิจสิ่งพิมพ์เป็นธุรกิจด้านบริการ ในการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวิถีและการดำรงชีวิต ตั้งแต่ตื่น เช้าทำภารกิจส่วนตัว เดินทางไปทำงาน อยู่ที่ทำงาน จนถึงก่อนเข้านอน ดังนั้น การผลิตหรือบริการสื่อสิ่งพิมพ์ ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ หรือบรรจุภัณฑ์ (ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด) ผู้ประกอบการต้องมี การเรียนรู้ปรับแนวทาง รูปแบบและวิธีการผลิตที่ตอบสนองสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

ก้าวต่อไปหลังจากนี้ของธุรกิจการพิมพ์ จึงมีความท้าทายอย่างยิ่ง การเดินทางต่อในธุรกิจนี้ คงต้องเตรียมตัว และก้าวต่ออย่างรวดเร็ว และลงมือทำทันที (นึกถึงนโยบายหาเสียงขึ้นมาทันที) การดำเนินธุรกิจการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จะเน้นเฉพาะคำว่า คุณภาพและมาตรฐานคงไม่เพียงพอ ต้องดูบริบทและการเปลี่ยนแปลงของการตลาด พฤติกรรมของผู้บริโภค วิถีชีวิตของคนสัญชาติดิจิทัล

สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจการพิมพ์ไม่ควรมองข้าม คือ วิธีการดำเนินธุรกิจที่มีความสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ เพราะในช่วงเวลาต่อจากนี้ไปอย่างน้อย 2-3 ปีเงินและงบประมาณส่วนใหญ่ก็จะมาจากภาครัฐเสียส่วนใหญ่ สำหรับภาคเอกชนอาจต้องใช้เวลา การลงทุนช่วงนี้คงแบบค่อยเป็นค่อยไป จะค่อยๆ ปรับตัวตามการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจของประเทศ และของโลก การดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ มิใช่หมายถึงต้องทำการประมูล หรือหางานจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ต้องดูว่างแผนหรือนโยบายในช่วง 2-3 ปีจากนี้จะเน้นไปทางไหน ผู้ประกอบการธุรกิจการพิมพ์ก็เตรียมแผนเตรียมให้ตรงกับแผนงาน หรือโครงการต่างๆ

 

(ที่มา: https://www.bcg.in.th/)

 

โมเดลเศรฐกิจ BCG เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของแผนงานของภาครัฐ เป็นแนวทางการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19 เป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ซึ่งได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2564-2569 (ระยะเวลา 5 ปี) โมเดลเศรฐกิจ BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ B คือ เศรษฐกิจ ชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง, C คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เป็นการใช้งานผลิตภัณฑ์เต็มวงจร (Reuse, Refurbish, Sharing) การแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) และการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Zero-Waste) และ G คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโตแข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

(ที่มา: https://www.bcg.in.th/)

 

แผนยุทธศาสตร์ชาติโดยการขับเคลื่อนโมเดลเศรฐกิจ BCG เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ด้วยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย รัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ เอกชน สังคม/ชุมชน ซึ่งถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เพื่อที่จะนำสิ่งที่มีอยู่ข้างในนำสู่สายตาชาวไทย และชาวโลก

ตัวอย่างการขับเคลื่อนโมเดลเศรฐกิจ BCG ของหน่วยงานรัฐที่ร่วมกับเอกชน สังคม/ชุมน

BCG NEXT GEN โครงการนวัตกรรมสินค้าภายใต้แนวคิด BCG อาหารและเครื่องดื่ม/ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร/ อาหารเสริมสุขภาพ เป็นโครงการประชาสัมพันธ์สินค้า BCG เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ริเริ่มโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งได้แบ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทั้งส่วนกลางและภูมิภาค รวม 19 จังหวัด โดยแยกสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาแปรรูปโดยผ่านแนวคิด BCG ยกตัวอย่างเช่น หมูปิ้ง/สะเต๊ะไร้ เนื้อ โปรตีนทางเลือกจากเห็ดแครง, เบคอนและไข่ทำจากแครอทและโยเกิร์ต เป็นต้น

จากโครงการ BCG NEXT GEN ผู้ประกอบการธุรกิจการพิมพ์ต้องเข้าไปศึกษาและทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์ เหล่านี้และต้องดูว่าเราในฐานะผู้ให้บริการ จะสามารถผลิตสิ่งพิมพ์หรือบรรจุภัณฑ์ตอบกลุ่มเป้าหมายนี้ได้อย่างไร เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้เดินทางเข้าสู่โมเดลเศรฐกิจ BCG ไปเรียบร้อยแล้ว

 

อ้างอิง: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

 

ตัวอย่างการขับเคลื่อนโมเดลเศรฐกิจ BCG ของสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย

เป็นกิจกรรมความร่วมมือด้านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ระหว่างสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทยกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการจัดการระบบหีบห่อและการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นกับสิ่งแวดล้อม หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Circular Packaging Towards BCG เป็นกิจกรรมให้คำปรึกษา คำแนะนำ ให้ความรู้และร่วมกันออกแบบพัฒนาหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกเข้า ร่วมโครงการจำนวน 20 บริษัท ได้มีการพัฒนาหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ภายใต้แนวคิด The Future in Circular โดยใช้ หลัก 5Rs (Reduce, Reuse, Recycle, Reject, Rethink) เป็นการออกแบบที่คำนึงถึงการลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เกินความจำเป็น ลดเวลาในการบรรจุสินค้า การยืดอายุผลิตภัณฑ์เป็นต้น จากกิจกรรมดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นต้นแบบ บรรจุภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ตั้งต้น เพื่อนำไปต่อยอดให้กับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าของตนเอง เช่น กล่องบรรจุภัณฑ์ไข่เยี่ยวม้าสีทอง แบรนด์ Lucky-Egg, กล่องบรรจุหมูปิ้งไร้เนื้อ, ถาดบรรจุลูกชิ้นกุ้งจากพืช เป็นต้น

 

อ้างอิง: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

 

 

บทความโดย

ประสิทธิ์  คล่องงูเหลือม

อุปนายกสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า