อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยจะพัฒนาศักยภาพอย่างไร

 

โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไปเร็วมากทั้งด้านเศรษฐกิจ  การค้า  อุตสาหกรรม  และเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีปรับเปลี่ยนเร็วมากเข้าสู่ยุค Digital มากขึ้นจึงทำให้อุตสาหกรรมการพิมพ์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย  เพราะเทคโนโลยี  Digital  เป็นเทคโนโลยีที่ Disrupt  การสื่อสารและโทรคมนาคมทั้งหมด

นอกจากนี้ไวรัสโคโรน่าได้แพร่เชื้อกระจายเข้าสู่สังคมของโลกนี้แบบไม่เว้น  ส่งผลให้เศรษฐกิจของโลกเดินถอยหลัง เหลือเพียง 1% ของ GDP ในปี 2564 สำหรับประเทศไทยโรงพิมพ์มากแห่งถูกปิด  งานพิมพ์น้อยลงถูกกระทบอย่างหนักเช่นกัน  เช่น ปริมาณที่เข้าไปสู่ในอุตสาหกรรมการพิมพ์

  • การพิมพ์หนังสือสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ลดลง 50 %
  • การพิมพ์บรรจุภัณฑ์และป้ายฉลากเพิ่มขึ้น 20%
  • การพิมพ์ Digital เพิ่มขึ้น 20%
  • การพิมพ์เพื่ออุดหนุนอุตสาหกรรมอื่นลดลง 5 %
  • การพิมพ์ Security และฟอร์มลดลง 3%

อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย  กระจายอยู่ใน กทม.และปริมณฑลถึงร้อยละ 80  นอกนั้นกระจายอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศ  ส่วนใหญ่เป็นการบริหารแบบครอบครัว  มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น  ที่เป็นโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ มีมาตรฐานในการผลิต และระบบการบริหารงานบุคคลที่เป็นระบบ จึงส่งผลกระทบไปสู่โรงพิมพ์ขนาดเล็กที่บริหารแบบครอบครัวและเป็นงานรับจ้างพิมพ์หนังสือ แคตตาล็อค สิ่งพิมพ์อื่นๆ ที่ปริมาณงานปรับลดลงอย่างมาก  โดยเฉพาะการพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่ปิดตัวเองมาเปลี่ยนการใช้ Online Newspaper แทน เพราะคนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง สื่อโทรทัศน์  และ Online มีมาแทนมากขึ้น

 

 

เทคโนโลยีของโลกด้านสื่อสิ่งพิมพ์ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปสู่ Electronic Media มากขึ้น และขยายตัวมาเท่ากับ Print Media ในร้อยละ 50 หมายถึง Electronic Media เข้ามาสอดแทรกการใช้ Print Media มากขึ้นทุกขณะขนาดที่ Print Media เอง กับถูกใช้น้อยลงเป็นลำดับ แต่ถึงอย่างไรไม่มีโอกาสจะสูญหายไปจากโลก ขณะนี้ยังคงต่อสู้กับ Electronic Media ต่อไป ซึ่งแนวโน้มในลักษณะนี้คงต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาดกันใหม่ เพราะสินค้าเก่าจะเริ่มมีคู่แข่งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของอายุผลิตภัณฑ์พัฒนามาถึงจุดสูงสุดแล้ว  อาจต้องปรับกระบวนการผลิตใหม่

 

 

การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ มีหลายวิธีการ ซึ่งโดยหลักทั่วไปจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาด กับตัวสินค้าที่เป็นเป้าหมาย ด้วยการใช้กลยุทธ์สินค้าปัจจุบันกับสินค้าใหม่ ในการเข้าสู่ตลาดปัจจุบัน หรือตลาดใหม่  นับเป็นกลยุทธ์พื้นฐานที่ควรต้องทดสอบและจัดทำเพราะไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก เช่น

สินค้าปัจจุบัน              ใช้วิธีเจาะตลาดปัจจุบัน เพิ่มยอดขายให้มากขึ้น

สินค้าปัจจุบัน             ใช้วิธีขยายตลาดใหม่  หรือลูกค้าใหม่ที่มีการใช้สินค้าประเภทเดียวกันเพื่อเพิ่มยอดขาย

หรือสินค้าใหม่           ที่เราพัฒนาขึ้นมาใหม่  เช่น  การพิมพ์หนังสือ  สิ่งพิมพ์ทั่วไป  พัฒนาการตลาดปัจจุบันให้มาใช้กับการพิมพ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์อื่นบ้างเช่น บรรจุภัณฑ์หรือสินค้าที่เป็น สื่อออนไลน์

หรือสินค้าใหม่           ต้องการตลาดใหม่เราจะใช้วิธีให้มีสินค้าหลากหลาย  โดยพัฒนาสินค้าทำให้สามารถมีนวัตกรรม  มีความแตกต่าง  และหาได้ยาก เช่น การพิมพ์Digital เป็นต้น

 

 

นั่นคือหลักการพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางด้านธุรกิจ ซึ่งหากสามารถวิเคราะห์ได้ดีอาจประเมินความสำเร็จได้บ้าง หากสถานการณ์ปกติ แต่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจตกต่ำ ลูกค้าประหยัดค่าใช้จ่ายจากสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะปัญหาด้านโควิด-19 ที่ยังคงอยู่และไม่แน่ใจว่าจะหายไปจากประเทศ  รวมถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ คงต้องหันมาใช้วิธีวิเคราะห์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ และมักจะใช้ในกระบวนการ ของการ Recondition และ Repositioning ของบริษัทใหม่  เพื่อดูว่าอะไรที่ยังเป็นจุดแข็ง  จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค หากเรามีจุดแข็งอยู่มากกว่าจุดอ่อน ยังพอปรับจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งได้บ้าง   และหากมีโอกาสจากสิ่งแวดล้อมภายนอกอีก ยิ่งมีโอกาสมากกว่าอุปสรรคหรือข้อจำกัด ดังตารางวิเคราะห์  SWOT’s Analysis ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ซึ่งหากวิเคราะห์ถึงจุดแข็งจุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัด  ของอุตสาหกรรมการพิมพ์จากอดีตที่ขยายตัวได้ดี  และพัฒนาด้านต่างๆ มารองรับ แต่ในปัจจุบันมีอะไรบ้างที่ ควรต้องปรับปรุงแก้ไข ยกเครื่องกันใหม่ทั้งระบบ

 

 

จุดแข็ง

  1. BOI ส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาครโดยให้สิทธิพิเศษด้านภาษี แก่ผู้ลงทุนนิคมและผู้ย้ายสถานประกอบการเข้าไปลงทุนตามเกณฑ์
  2. มีระบบการศึกษา สร้าง บุคลากรได้ครบทุกระดับ ตั้งแต่ศูนย์ฝึกอบรม ปวช. ปวส. ป.ตรี ป.โท และป.เอก
  3. มีสมาคมรองรับการร่วมทำกิจกรรมแต่ละเทคโนโลยี และแต่ละสมาคม
  4. มีความสามารถพื้นฐานในการผลิตหนังสือ สิ่งพิมพ์  บรรจุภัณฑ์ Security  และงานพิมพ์สนับสนุนอุตสาหกรรมด้านอื่นได้ในระดับหนึ่ง
  5. มีการปรับตัวจากการพิมพ์ทั่วไปเข้าสู่การพิมพ์บรรจุภัณฑ์และ Digital ที่มีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี
  6. มี Supply Chain หลักที่ผลิตใช้ได้เอง และสามารถส่งออกบางส่วน เช่น กระดาษ ฟิลม์ PPE และหมึกพิมพ์

จุดอ่อน

  1. การผลิตบุคลากรของรัฐยังต้องเพิ่มคุณภาพและยังไม่ครบทุกเทคโนโลยี เป็นการเฉพาะด้าน
  2. มีสหพันธ์และสมาคมหลากหลายแต่มิได้แน้นการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีในภาพรวม
  3. การผลิตบุคลากรการวิจัยยังปรับตัวช้ารองรับเทคโนโลยีใหม่ เช่น Digital เป็นการเฉพาะ
  4. การบริหารโรงพิมพ์ยังไม่มีระบบบริหารงานบุคคล เป็นการบริหารแบบครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 95 เช่น บรรจุภัณฑ์และดิจิทัล
  1. ไทยยังต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพราะเป็นประเทศผู้ใช้เทคโนโลยี
  2. ศักยภาพในการผลิตเพื่อส่งออกยังไม่เพียงพอ
  3. ขาดข้อมูลในการผลิตบุคลากรให้กับภาครัฐ
  4. ความร่วมมือในการผลิตบุคลากรของรัฐยังมีอยู่น้อย
  5. สถานประกอบการสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพยังมีน้อย
  6. ขาดการวิจัยเทคโนโลยีในทุกระดับ
  7. ขาดการวิจัยเพื่อทำแผนแม่บทการพัฒนาศักยภาพอย่างเป็นระบบ
  8. การผลิตบุคลากรของรัฐยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้สถานประกอบการใช้แรงงานไร้ฝีมือ
  9. ไม่มีแหล่งพัฒนาบุคลากรด้านทักษะของอุตสาหกรรมการพิมพ์ของตนเอง
  10. การปรับตัวในธุรกิจเป็นไปอย่างล่าช้า เช่น บรรจุภัณฑ์ และดิจิทัล
  11. การบริหารต้นทุน-กำไร-ความสูญเสียยังไม่มีระบบ
  12. ส่วนใหญ่ใช้แรงงานไร้ฝีมือ ค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐาน.ทำให้ Productivity ต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนสูง

โอกาส

  1. รัฐผักดันพรบ.การศึกษาแห่งชาติ มุ่งสู่การพัฒนาคนในศตวรรษที่ 21
  2. มหาวิทยาลัยกำลังเร่งรัดการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยเป็น 5 กลุ่มโดยเน้นเฉพาะทางเข้าสู่ทุนมนุษย์ในศตวรรษที่ 21
  3. รัฐสนับสนุนสินค้าไทย
  4. รัฐกำลังเร่งสนับสนุนงานวิจัย
  5. รัฐส่งเสริม-สนับสนุนการ Joint Venture กับต่างประเทศ ลงทุนด้วยเทคโนโลยีและอัตโนมัติใน EEC
  6. รัฐส่งเสริมการลงทุนใหม่ หากมีการลงทุนใหม่ 1 แห่ง ตลาดการพิมพ์จะมีเพิ่มตาม

อุปสรรค

  1. การพิมพ์ไม่อยู่ในแผนพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่ใน S -Curve
  2. รัฐถือว่าการพิมพ์เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนไม่ใช่อุตสาหกรรมการผลิตจึงให้ความสำคัญน้อย
  3. รัฐขาดการดูแลอุตสาหกรรมการพิมพ์  เพื่อรวบรวมข้อมูลทุกด้านในการพัฒนาและส่งเสริม
  4. ความสามารถในการผลิตอุปกรณ์  เครื่องจักร  เครื่องมือทางการพิมพ์ของอุตสาหกรรมการพิมพ์ยังมีน้อยมากและไม่เพียงพอ
  5. รัฐส่งเสริมและสนับสนุนด้านการศึกษาทางการพิมพ์น้อยมาก
  6. ขาดข้อมูลในการผลิตบุคลากรให้ได้ตามความต้องการของอุตสาหกรรม ภาครัฐจึงต้อง Inside Out  มาโดยตลอด
  7. เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามารวดเร็วและเปลี่ยนเร็วมากทำให้กระทบกับการพิมพ์หนังสือและสิ่งพิมพ์มาก
  8. รัฐยังไม่มีแผนการพัฒนา Mini Factory สำหรับโรงพิมพ์ขนาดเล็ก เพื่อตั้งหน่วยงานดูแล
  9. บริษัทขนาดใหญ่ลงทุนบริษัทโฆษณาและโรงพิมพ์เอง

จากข้อมูลการวิเคราะห์ SWOT ที่เป็นเชิงลึก  และเป็นบริบทของการวิเคราะห์ที่เป็นสากล จะเห็นว่าเรามีจุดแข็งอยู่บ้าง แต่จุดอ่อนมีมากมายที่ต้องปรับยุทธศาสตร์กันใหม่ ประกอบกับอุปสรรคไม่ค่อยจะเอื้ออำนวยต่อการพัฒนามากนัก การวิเคราะห์นี้จะนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย ที่เคยจัดทำมานานมากซึ่งสถานการณ์มันเปลี่ยนไปคงต้องใช้เวลาพัฒนาในระยะที่ 2 เป็นเวลานาน  แต่พื้นฐานมีมากพอจะพัฒนาได้   หากทุกฝ่ายร่วมใจกันยอมรับสิ่งที่ควรต้องพัฒนาโดยเฉพาะจุดอ่อนให้เข้มแข็งขึ้น คงต้องปรับกันทั้งระบบ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพให้อุตสาหกรรมการพิมพ์ยืนอยู่คู่กับอุตสาหกรรมอื่น เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้เป็นที่ยอมรับ ให้เป็น Positioning ใหม่ แทนที่จะมุ่งการส่งออกที่เรามีจุดอ่อน   คงไม่สามารถแข่งขันกับเขาได้              สิ่งที่เราควรปรับปรุง เพื่อให้อุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยเดินหน้าต่อไปได้จากประสบการณ์ที่มีอยู่บ้างสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้ต่อไป ทั้ง 2 ฝ่ายควรหันหน้าร่วมมือกันพัฒนาต่อไป ได้แก่

  1. ผู้ประกอบการ ถึงแม้ว่าเราจะมีจุดแข็งอยู่บ้างแต่จุดอ่อนมีมาก โดยเฉพาะการบริหาร  และการใช้แรงงานของบุคลากรได้แก่
    • สหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์และทุกสมาคม พึงร่วมกันสร้างศักยภาพเป็นเป้าหมาย คงไม่ใช่ร่วมกันเพื่อทำกิจกรรมเท่านั้น ควรได้เป็นการสนับสนุนให้เกิดการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาตนเองต่อไป
    • ควรจัดตั้งกองทุนสนับสนุนศักยภาพ และจัดตั้งศูนย์กลางการฝึกอบรม ทั้งด้านการบริหารและบุคลากรอย่างเป็นระบบ  โดยอาจมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและในประเทศ
    • ริเริ่มการเปลี่ยนสาขาอาชีพที่มีความเข้มแข็งและมีโอกาสเติบโตสูง เช่น การพิมพ์บรรจุภัณฑ์ และการพิมพ์ Digital ต่อไป
    • ให้ความสำคัญและร่วมมือกับภาครัฐในการผลิตบุคลากรยุค 0 เพื่อรองรับกับจุดอ่อนและความพอเพียงให้ครอบคลุมทุกเทคโนโลยี
    • พัฒนาระบบงานบริหารบุคคลให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
    • ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรม ฝึกทักษะและทดสอบฝีมือในทุกระดับ
    • ให้ข้อมูลกับสถานศึกษาภาครัฐ ในความต้องการของบุคลากรแต่ละปีทุกเทคโนโลยีเพื่อให้สถาบันภาครัฐจัดให้
    • ให้ทุนในการสนับสนุนการศึกษาและวิจัยเทคโนโลยีแก่ อาจารย์และสถาบันการศึกษารวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ
    • ริเริ่มการสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานเป็นของตนเองเพิ่มขึ้น
    • สร้างโอกาสความร่วมมือกับต่างชาติที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและการจัดการเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งการลงทุนร่วมกัน

  1. ภาครัฐ ภาครัฐที่ยังให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมการพิมพ์ในการพัฒนาบุคลากร และการมีหน่วยงาน ดูแลเพื่อเก็บข้อมูลและแนวทางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการพิมพ์เพิ่มขึ้น
    • ภาครัฐแบ่งการศึกษาตามกลุ่มที่กระทรวงกำหนด เพื่อความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
    • ปรับปรุงหลักสูตรร่วมกับภาคประกอบการเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรตามความต้องการใหม่ในศตวรรษที่ 21
    • สถานศึกษาภาครัฐปรับบทบาทการเรียนการสอน ใหม่ตามความต้องการของสถานประกอบการ ได้แก่ การพิมพ์ออฟเซท การพิมพ์สกรีน  การพิมพ์บรรจุภัณฑ์  การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การพิมพ์ดิจิทัล  การพัฒนาการเรียนรู้ให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลางจริงๆ จังๆ  เป็นต้น
    • สถาบันการศึกษาภาครัฐส่งเสริมให้อาจารย์ได้รับการพัฒนาให้เป็นอาจารย์มืออาชีพเพื่อเป็นการสอนแบบ Student Center ตามมาตรฐานของฟินแลนด์ CDIO และ STEM
    • รัฐบาลควรจัดตั้งหน่วยงานดูแลอุตสาหกรรมการพิมพ์เป็นการเฉพาะ
    • รัฐส่งเสริมให้โรงพิมพ์ขนาดเล็กรวมตัวอยู่ใน Mini-Factory ที่รัฐจัดให้ในราคาเหมาะสม
    • ให้ความสำคัญในการผลิตบุคลากรทางการพิมพ์ การวิจัย รวมถึงการสนับสนุนด้านอื่นๆแก่อุตสาหกรรมการพิมพ์

ทั้งหมดเป็นข้อเสนอแนะและความเห็นส่วนตัว  ซึ่งอาจจะมีปัจจัยอื่นมากกว่านี้ที่อาจมองไม่เห็นได้ชัดเจน หากภาคประกอบการและรัฐร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อมุ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ สามารถสร้างรายได้  ส่งผลต่อการเติบโตของ GDP ได้อีกส่วนหนึ่ง  เพราะการหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ต้องปรับกันทุกสาขาอาชีพ นั่นคือทิศทางของการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย

บทความโดย

ดร.วิชัย  พยัคฆโส

นายกสมาคมส่งเสริมวิชาการพิมพ์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า