แนวโน้มวัสดุบรรจุภัณฑ์สำหรับตลาดยุคหลังโควิด

 

แนวโน้มหรือ Trend ของวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ต้องอัพเดทกันอยู่เรื่อย ๆ เพราะเนื่องจากปัจจัยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ล้วนมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาต่อวงการวัสดุบรรจุภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งในช่วงเวลานี้ที่โลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส SARS-CoV-2 หรือรู้จักกันในนาม COVID-19 ซึ่งองค์กรอนามัยแห่งชาติ (World Health Organization) ได้ประกาศว่าเป็นโรคระบาดใหญ่ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 (ที่มา: BBC News Thai) ซึ่งไม่เพียงแต่รบกวนการใช้ชีวิตปกติเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลกอีกด้วย สถานการณ์ ที่น่าสนใจคือ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมบริการเสมอมา เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้จัดหาวัสดุบรรจุภัณฑ์ให้กับอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าบริโภคต่างๆ (Fast- moving consumer goods, FMCG) หรือแม้กระทั่งบรรจุภัณฑ์สำหรับยาหรือที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นแม้ในช่วงล็อกดาวน์ ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการระบาดใหญ่ เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การเดินทาง การท่องเที่ยว การต้อนรับ และยานยนต์ เป็นต้น

ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีความกลัวการแพร่กระจายของไวรัสจากการสัมผัสระหว่างพื้นผิวของวัสดุบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ ซึ่งกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความตระหนักถึงในเรื่องของสุขภาพ สุขอนามัย และความปลอดภัยมากขึ้น แต่ในที่สุดสิ่งนี้ก็สร้างโอกาสในการวิจัยมากขึ้นสำหรับการประยุกต์ใช้บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (smart and intelligent packaging) ในรูปแบบต่างๆ อาทิเช่น การใช้เซ็นเซอร์เพื่อการระบุให้แน่ใจว่าบรรจุภัณฑ์นั้นไม่มีการปนเปื้อนหรือ "ปลอดไวรัส" ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ในขณะเดียวกัน ความต้องการซื้ออาหารเพื่อนำกลับบ้าน (Takeaway food) ก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเมื่อรับประทานเสร็จแล้วก็อาจจะส่งผลถึงปัญหาในการกำจัดบรรจุภัณฑ์นั้นจึงต้องเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประยุกต์ใช้เทคนิคบรรจุภัณฑ์ดัดแปลงบรรยากาศ (Modified atmosphere packaging, MAP) โดยมีวัตถุประสงค์เพิ่มอายุการเก็บรักษาสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน ( Ready-to-eat-food) ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความต้องการบรรจุภัณฑ์สำหรับการบรรจุหีบห่อที่เพิ่มขึ้น เพราะเนื่องจากผู้บริโภคไม่ต้องการไปร้านอาหารเพื่อรับประทานอาหารแบบนั่งในร้าน ดังนั้น จากสถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และก็นำไปสู่โอกาสการวิจัยค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อนำมาตอบสนองต่อความต้องการดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเป็นการเร่งให้เกิดการพัฒนาวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นเสมือนตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

 

COVID-19 Impact on Smart and Intelligent Packaging

ตัวอย่างหนึ่งจากความต้องการการเว้นระยะห่างทางสังคมในทุกกิจกรรม โดยเฉพาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำการตรวจรักษาคนไข้ การนำฉลากบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Intelligent labels and packaging) มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เข้าถึงการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังฉลากบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะนี้คือ เทคโนโลยี Near field communication, NFC  ที่สามารถช่วยเพิ่มความปลอดภัยทั้งในด้านการตรวจสอบความถูกต้องของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ หรือ ตรวจสอบวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการตรวจสอบการปลอมแปลงผลิตภัณฑ์ และนอกจากนี้การใช้แท็ก NFC จะทำให้หน่วยงานสามารถตรวจจับและวิเคราะห์ปัญหาได้รวดเร็วขึ้นและดำเนินการแก้ไขได้เร็วยิ่งขึ้น

 

ที่มา : ภาพจาก nxp

https://www.nxp.com.cn/company/blog/intelligent-healthcare-labels-and-packaging-support-covid-19-response:BL-INTELLIGENT-LABELS-PACKAGING-COVID-19-SUPPORT

 

COVID-19 Impact on Takeaway packaging

เมื่อผู้บริโภคนิยมซื้ออาหารกลับไปทานที่บ้านมากขึ้น ความต้องการบรรจุภัณฑ์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ปริมาณขยะก็จะเพิ่มขึ้นตามมา ซึ่งสิ่งนี้ก็จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การรีไซเคิลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นในเกิดการใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่ต้องสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติทั้งที่เป็น Paper-based packaging และ Biodegradable and biobased packaging โดยยังคงมีสมบัติด้านการปกป้องและคุ้มครองสินค้าที่บรรจุได้อย่างเหมาะสมเพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธรรมชาตินั่นเอง

 

ที่มา : ภาพจาก dreamstime

https://www.dreamstime.com/photos-images/food-packaging.html

 

COVID-19 Impact on modified atmosphere packaging

การได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าจะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี และมีร่างกายที่แข็งแรงสามารถที่จะต่อสู้กับโรคภัยต่างๆ ได้ดีขึ้น จึงเป็นที่มาของเทคนิคการทำ Modified Atmosphere โดยการเปลี่ยนบรรยากาศของก๊าซรอบๆ ผลิตภัณฑ์อาหารภายในบรรจุภัณฑ์ และใช้วัสดุและรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีชั้นกั้นก๊าซที่เหมาะสม เพื่อรักษาบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้สำหรับการเก็บรักษาอาหาร  โดยกระบวนการปรับเปลี่ยนทั่วไปคือจะลดปริมาณออกซิเจน (O2) ใน head space ของบรรจุภัณฑ์ แล้วแทนที่ด้วยก๊าซไนโตรเจน (N2) หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหาร และในบรรจุภัณฑ์แบบ case-ready packaging ก็ยังสามารถปกป้องผลิตภัณฑ์จากการปนเปื้อนต่างๆ และทำให้เหมาะสำหรับการจัดเก็บและการขนส่งที่ยาวนานขึ้น ซึ่งเบื้องหลังของความสำเร็จของเทคนิคนี้คือการเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ รูปแบบบรรจุภัณฑ์ และเทคนิคการบรรจุที่เหมาะสม

 

ที่มา : ภาพจาก modifiedatmospherepackaging

https://modifiedatmospherepackaging.com/

 

บทสรุป

บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการคาดการณ์ถึงแนวโน้มของวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่จะต้องมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาหารในยุคหลังโควิด ซึ่งอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ต้องเตรียมพร้อมที่จะนำทั้งกลยุทธ์ทางธุรกิจใหม่ๆ มาใช้ หรือมุ่งเน้นที่การใช้นวัตกรรมทางวัสดุและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในกระบวนการผลิต และการบรรจุ ที่สามารถรับมือและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดได้ดังเช่นปรากฎการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

บทความโดย

ดร.ธนธร  ทองสัมฤทธิ์

ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า